posttoday

Plant Factory บทใหม่เกษตรกรไทย เลือกปลูกพืชได้ตามใจ สร้างมูลค่าหนีคู่แข่ง

04 พฤศจิกายน 2566

ชูเทคโนโลยี IoT-คลาวด์ หลีกหนีสินค้าเกษตรราคาถูก เพิ่มมูลค่าสร้าง Food Safety ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร-ความงาม ดันสู่พืชเพื่อความยั่งยืน ฝันไกลส่งออกประเทศแถบตะวันออกกลาง

ชีวิตในฝันหลังเกษียณกับการเป็นเกษตรกรจะเป็นจริงง่ายขึ้น ด้วยระบบการเกษตรแบบปิด ตัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อพืชผลและราคาขาย กับระบบ Plant Factory ที่สามารถทำให้เลือกปลูกเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่ราคาสูง ปลูกได้ทุกฤดูกาล ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 4 ล้านบาท คืนทุนภายใน 2 ปี

วราวุธ จันทราภินันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซุพีเรีย โกล จำกัด ผู้ผลิตพืชและจัดจำหน่ายระบบปลูกพืชรูปแบบใหม่ของประเทศไทยในชื่อ ‘Plant Factory’ เล่าว่า ความฝันในบั้นปลายชีวิตของหลายคน คือการออกมาทำเกษตรกรรม มีกิจการเป็นของตนเอง ทว่าในความเป็นจริงนั้น อุปสรรคในการทำเกษตรกรรมต้องเผชิญกับปัจจัยต่างๆที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็น สภาพภูมิอากาศ วัชพืช ศัตรูพืช พยาธิ ทำให้ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ที่สำคัญคือ ทำเองไม่ไหว เพราะไม่ได้ทำเกษตรกรรมมาตั้งแต่เกิด จำเป็นต้องจ้างแรงงาน และกว่าจะลองผิดลองถูก และสามารถหาตลาดได้ ก็ถูกกดราคา ด้วยความเชื่อในตลาดที่ว่าสินค้าเกษตรต้องราคาไม่แพง และไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรได้

ปลูกพืชระบบปิดตอบโจทย์ Food Safety

ย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ตอนนั้นโควิคกำลังเริ่มระบาด ทำให้ตนเองทดลองปลูกพืชในระบบปิด เริ่มต้นจากการค้นหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมโดยค้นพบว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีระบบ Plant Factory  ระบบเดียวกับที่ประเทศญี่ปุ่นใช้ปลูกพืชแบบระบบปิด ข้อดีคือ จะปลูกเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีฤดูกาล ให้ผลผลิตม่ำเสมอ เป็น Food Safety ที่ปลอดภัยกับผู้บริโภค ปราศจากสารเคมี และพยาธิตามธรรมชาติ

Plant Factory บทใหม่เกษตรกรไทย เลือกปลูกพืชได้ตามใจ สร้างมูลค่าหนีคู่แข่ง

เมื่อได้ความรู้ดังกล่าวมา ด้วยความเป็นวิศวกร ตนจึงเริ่มสร้างโรงเรือนและวางระบบต่างๆทั้งระบบการให้น้ำ ให้ปุ๋ย พลังงานลม และแสง รวมถึงระบบการควบคุมอุณหภูมิ ควบคุมความชื้น และระบบหมุนเวียนนำคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ และเลือกผักเคล ราชินีผักใบเขียวที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และฟ้าทะลายโจร พืชเศรษฐกิจที่สามารถนำไปสกัดเป็นยารักษาโรคได้

นำ IoT-คลาวด์ ควบคุมระบบปลูกอัจฉริยะ

วราวุธ กล่าวว่า ด้วยการลองผิด ลองถูก ในการสร้างโรงเรือนเอง ทำให้มีปัญหาการจดบันทึกจากมิเตอร์ที่ควบคุมระบบต่างๆที่แตกต่างกันและไม่สามารถประมวลผลได้แบบเรียลไทม์ ทำให้ต้องหาวิธีแก้ปัญหา จึงได้มาปรึกษากับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เข้าร่วมโครงการ Smart Plant Factory ตั้งแต่ปี 2565 ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรืออุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรม (depa Digital Transformation Fund) ภายใต้การดูแลของฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ โดยมีการนำเทคโนโลยี IoT ที่มีการจัดเก็บข้อมูลใน Cloud มาประยุกต์ใช้พัฒนาระบบควบคุมและติดตามระบบปลูกแบบเดิมที่เป็นกึ่งอัตโนมัติเป็นอัตโนมัติทั้งระบบ

Plant Factory บทใหม่เกษตรกรไทย เลือกปลูกพืชได้ตามใจ สร้างมูลค่าหนีคู่แข่ง Plant Factory บทใหม่เกษตรกรไทย เลือกปลูกพืชได้ตามใจ สร้างมูลค่าหนีคู่แข่ง

โดยความร่วมมือกับ บริษัท พีเอ็ม โซลูชั่น คอนโทรล จำกัด ผู้ให้บริการด้านดิจิทัล (Digital Provider) ด้วยการนำเทคโนโลยี IoT ที่มีการจัดเก็บข้อมูลใน Cloud มาใช้ มีการแจ้งเตือน และแสดงผลสภาพแวดล้อมในแปลงปลูกผ่าน Dashboard ทำให้ควบคุมและติดตามระบบปลูกได้ทุกที่ ทุกเวลา อีกทั้งสามารถควบคุมและติดตามได้พร้อมกันหลายระบบปลูกในเวลาเดียว ซึ่งผลผลิตที่ได้จะถูกจัดส่งไปจำหน่ายที่ร้าน Easy Veggie นอกจากนี้ยังใช้งานง่าย ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ใช้งานในการบริหารจัดการการปลูก

หลังจากที่เรานำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ บริษัทสามารถเพิ่มผลผลิตจาก 700 กิโลกรัมต่อพนักงาน 1 คนต่อเดือนเป็น 2,800 กิโลกรัมต่อพนักงาน 1 คนต่อเดือน เพิ่มรายได้จาก 140,000 บาทต่อเดือนเป็น 660,000 บาทต่อเดือน อีกทั้งสามารถลดภาระค่าแรงงานดูแลระบบจาก 80,000 บาทต่อเดือนเหลือ 40,000 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้ ในปี 2566 ซุพีเรีย โกล ยังได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจาก ดีป้า สาขาภาคตะวันออก ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรืออุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรม จากโครงการ ERP for Smart Plant Factory โดย ซุพีเรีย โกล ต้องการนำเทคโนโลยี ERP มาใช้พัฒนาระบบงานสนับสนุน 5 ฟังก์ชันให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารสินค้าคงคลัง การผลิต การบัญชี การจัดจำหน่าย และการจัดซื้อ เพื่อให้เอกสารต่าง ๆ มีความถูกต้อง มีการจัดเก็บข้อมูลที่ถูกต้องมาใช้วิเคราะห์ ควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่ายและจำนวนพนักงานในส่วนของงานเอกสาร

Plant Factory บทใหม่เกษตรกรไทย เลือกปลูกพืชได้ตามใจ สร้างมูลค่าหนีคู่แข่ง

เป็นเจ้าของธุรกิจง่ายเริ่มต้น 4 ล้านบาท คืนทุน 2 ปี

วราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบัน Plant Factory ของตนเองที่ลงทุนได้ คืนทุนเรียบร้อยและระบบ Plant Factory สามารถส่งต่อระบบเชิงพาณิชย์สำหรับผู้ที่สนใจเป็นเกษตรยุคใหม่ด้วยเงินเริ่มต้น 4-5 ล้านบาท บนพื้นที่ 100 ตารางเมตร การันตีคืนทุนภายใน 2 ปี ผู้ที่สนใจต้องมีตลาดที่จะจำหน่ายก่อนจากนั้นเพียงแค่นำเงินมาลงทุนก็จะได้โรงเรือนระบบปิด พร้อมเมล็ดพันธุ์ที่สามารถเติบโต ได้ทันที เช่น ผักเคล จะสามารถตัดผลผลิตไปขายได้ภายใน 35 วัน โดยบริษัทจะเข้าไปทำโรงเรือนให้ใช้เวลา 3-4 เดือน เมื่อมีการเก็บผลผลิตครั้งแรก ผลผลิตจะถูกออกแบบมาให้สามารถเก็บได้ทุกวัน วันละ 15 กิโลกรัมต่อวัน สามารถขายได้ในราคา 135 บาท ต่อ 150 กรัม 

ที่สำคัญโรงเรือนดังกล่าว ยังสามารถออกแบบให้เหมาะสมกับพืชที่ต้องการปลูกได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นพืชฤดูหนาว หรือ ร้อน สามารถเลือกปลูกแบบผสมผสานเพื่อให้สามารถมีผลผลิตออกสู่ตลาดทั้งปี และสามารถหลุดพ้นจากปัญหาสินค้าเกษตรราคาถูกได้ 

Plant Factory บทใหม่เกษตรกรไทย เลือกปลูกพืชได้ตามใจ สร้างมูลค่าหนีคู่แข่ง Plant Factory บทใหม่เกษตรกรไทย เลือกปลูกพืชได้ตามใจ สร้างมูลค่าหนีคู่แข่ง

นอกจากนี้ พืชที่ปลูกยังสามารถนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่านอกจากขายสดได้ อย่างที่บริษัททำอยู่ คือการนำมาขายที่ร้าน Easy Veggie ทั้งการทำเป็นน้ำผัก ไอศกรีม ขนม และจะต่อยอดเป็นขนมเพื่อสุขภาพต่างๆ เพื่อให้คนไทยได้รับประทานผักมากขึ้น

สู่ผักเพื่อความยั่งยืน รุกตลาดองค์กร-ตะวันออกกลาง

นอกจากการจำหน่ายในประเทศผ่านร้าน Easy Veggie ที่มีสาขาอยู่จามจุรีสแควร์และเดอะไนท์ พระราม 9 แล้ว อนาคตยังมีแผนขายผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วย คาดว่าจะจับมือเป็นพันธมิตรร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการขนส่งเย็น เนื่องจากมั่นใจในคุณภาพการบริการของไปรษณีย์ไทย รวมถึงยังมีแผนในการส่งออกไปยังประเทศแถบตะวันออกกลาง เนื่องจากเป็นประเทศที่มีปัญหาในการผลิตพืชผลทางการเกษตรและมีความต้องการสินค้าเกษตรสูง

นอกจากนี้ยังมีแผนรุกตลาดองค์กร โดยนำจุดเด่นในการทำระบบคำนวณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มาการันตีตามนโยบายความยั่งยืน เพื่อให้พืชของบริษัทกลายเป็นพืชเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจะจับมือกับ บริษัท เมฆา วี จำกัด (Mekha V) บริษัทลูกของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.ในการทำแอปพลิเคชันมาตรฐานสากล สามารถให้องค์กรที่ซื้อผักจากบริษัทนำตัวเลขคาร์บอนเครดิตไปใช้งานได้

เพราะการปลูกผักสมัยใหม่ ต้องมีอำนาจการต่อรอง ต้องนำสารสกัดมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เพื่อเพิ่มมูลค่าไม่ใช่ปลูกแล้วกองขายในราคาถูกแบบดั้งเดิมอีกต่อไป