posttoday

รมว.ดีอี เคาะ 3 มาตรการ แก้ปัญหาหลอกซื้อของออนไลน์แบบเก็บเงินปลายทาง

20 ตุลาคม 2566

หลังพบปัญหาหลอกลวงซื้อขายออนไลน์รอบ 1 ปี 7 เดือน แจ้งความกว่า 1.3 แสนคดี โดยเฉพาะการหลอกลวงเก็บเงินปลายทางผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ไอจี ติ๊กต็อก และไลน์ เคาะ 3 มาตรการแก้ปัญหา จัดมาตรฐานการรับส่งสินค้า ยืนยันตัวตนผู้ส่ง และ แลกเปลี่ยนข้อมูลการส่งสินค้า

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า วันนี้ (20 ต.ค.2566) ได้สั่งการให้นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษารมว.ดีอี เป็นประธานในการประชุม “การแก้ไขปัญหาการหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ กรณีใช้ช่องทาง Cash On Delivery (COD)” โดยมี นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี  ผู้แทนจากตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น ลาซาด้า และตัวแทน บริษัทขนส่งพัสดุ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือ 

ปัจจุบันปัญหาการหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ สูงมาก มีจำนวนคดีหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ แจ้งความกว่า 130,000 คดี ในรอบ 1ปี 7 เดือน ที่ผ่านมา (1 มีค 2565 – 30 กย. 2566)  โดยเฉพาะ การหลอกลวง ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ไอจี ติ๊กต็อก และไลน์ เพราะเป็นช่องทางติดต่อ ซื้อขายสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และคนร้ายหลอกลวงออนไลน์ มักจจะใช้ช่องทาง  Cash On Delivery (COD) หรือ การส่งพัสดุสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง 

ทั้งนี้ คนร้ายจะใช้ช่องทางดังกล่าวหลอกผู้สั่งสินค้าออนไลน์ และให้เลือกการส่งพัสดุแบบเก็บเงินปลายทาง โดยเมื่อผู้รับสินค้าจ่ายเงินพนักงานขนส่งแล้ว ภายหลัง เมื่อแกะพัสดุออกมา พบว่า ไม่ตรงปก เป็นของที่ผู้สั่งไม่ได้สั่งซื้อ หรือ เป็นสินค้าไม่ได้คุณภาพ ใช้งานไม่ได้ ก็ไม่สามารถขอคืนเงินได้ สาเหตุมักเกิดจาก คนร้ายมีการปกปิดข้อมูล เช่น ไม่แจ้งหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ส่งสินค้า ไม่สามารถติดต่อได้  ซึ่งทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากไม่สามารถติดตามขอคืนเงิน หรือ หาตัวคนร้ายได้ 

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมฯ ได้หารือมาตรการแก้ปัญหาหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ เก็บเงินปลายทาง (COD) สรุปได้ดังนี้  

1. การจัดทำมาตรฐานการรับส่งสินค้าของผู้ให้บริการรับส่งสินค้าและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น การชะลอการโอนเงินให้ร้านค้า/ผู้ส่งสินค้า (ซึ่งอาจจะเป็นคนร้าย) วิธีการและระยะเวลาในการร้องเรียนของผู้รับสินค้า เป็นต้น

2. แนวทางการยืนยันตัวตนของผู้ส่งสินค้า 

3. แนวทางการพัฒนาฐานข้อมูลกลางและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะ ข้อมูลคนร้ายและกิจกรรมที่ต้องสงสัยว่าเป็นคนร้าย เพื่อใช้เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน 

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดปัญหาการหลอกลวงประชาชนเป็นจำนวนมาก  ดีอี ได้เร่งรัด เเก้ปัญหาให้กับประชาชน ที่ถูกหลอกลวงจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และได้สินค้าไม่ตรงปก หรือไม่ได้รับสินค้า โดยเฉพาะ กรณี COD ที่คนร้ายมักจะใช้ในการหลอกลวง

สำหรับประชาชนหรือผู้บริโภคที่สั่งซื้อสินค้า บริการต่างๆ ทางออนไลน์แล้ว เกิดปัญหา ถูกโกง หลอกลวง อย่านิ่งนอนใจ สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียน หรือปัญหา หรือขอคำปรึกษาเข้ามาได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ 1212 OCC ของ ETDA ได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากนั้นศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ จะทำการประสานต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ท่านเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือและได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงทีมากที่สุด