posttoday

ดีอีปักหมุดภารกิจเร่งด่วน “ชุมชนดิจิทัล ชุมชนโดรนใจ” ปั้นรายได้เกษตรกร

30 กันยายน 2566

เดินหน้าเพิ่มทักษะ-สร้างอาชีพชุมชน สู่นักขับโดรนถูกกฎหมาย ผลักดันให้เกิดธุรกิจซ่อมบำรุง ตั้งเป้า 500 ชุมชนประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตร บนพื้นที่ 4 ล้านไร่ เริ่มจ.นครราชสีมา

ภารกิจเร่งด่วนของนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ทำได้ทันที คือ โครงการ “ชุมชนดิจิทัล ชุมชนโดรนใจ” เพื่อยกระดับชุมชนให้มีการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตร ตั้งเป้าสู่ 500 ชุมชน 4 ล้านไร่ 

โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนงานการยกระดับหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ สู่ หนึ่งตำบลหนึ่งดิจิทัล (One Tambon One Digital) เพื่อมุ่งเน้นการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสร้างรายได้และก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 

ชุมชนโดรนใจเพื่อการเกษตร จึงต้องการเน้นให้ชุมชนมีความสามารถเป็นนักขับโดรนอย่างถูกกฎหมาย มีทักษะความรู้ความสามารถในการบังคับการบินโดรน ทำให้เกิดอาชีพการบริการเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเกษตรในระดับท้องถิ่น เกิดธุรกิจซ่อมบำรุงดูแลรักษาปรับเปลี่ยนธุรกิจร้านซ่อมจักรยาน ร้านซ่อมวิทยุโทรทัศน์ เป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีโดรนของชุมชน เกิดการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานทางการเกษตร

กระทรวงดีอีจะดำเนินการคัดเลือก 500 ชุมชน เพื่อเดินหน้าให้ความรู้ในการขับโดรนรวมถึงการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสอบใบอนุญาตเป็นนักบินโดรน ซึ่งโดรนเพื่อการเกษตรได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในการนำมาใช้พ่นปุ๋ย พ่นยาฆ่าแมลง ทดแทนการใช้แรงงานคนที่นับวันจะขาดแคลนมากขึ้น ทว่าราคาของโดรนที่สูงก็ทำให้เกษตรกรไม่สามารถหาเป็นเจ้าของเองได้

สิ่งสำคัญคือการจ้าง ดังนั้นหากคนในชุมชนสามารถมีนักบินที่สามารถขับโดรนให้บริการได้ ผ่านโครงการของดีอีที่จะมีโดรนให้ขับ ก็จะเกิดการสร้างอย่างยั่งยืน

นอกจากอาชีพนักขับโดรนแล้ว ยังสามารถเปลี่ยนอาชีพดั้งเดิมของชุมชนที่เปิดร้านค้าต่างๆและไม่ได้รับความนิยมหรือรายได้น้อยลง โดยกระทรวงดีอีจะมีการอบรมทักษะในการซ่อมโดรน การเรียนรู้เทคโนโลยีโดรนเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่งให้ชุมชน 

ขณะเดียวกันกระทรวงดีอีจะสร้างชุมชน IoT ขึ้นโดยเน้นให้ชุมชนมีความสามารถในการออกแบบการใช้อุปกรณ์ IoT เพื่อการเกษตรสมัยใหม่ การจัดการข้อมูลแปลงการเกษตร การวางแผนการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตต่ำ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และแก้ไขปัญหาผลผลิตไร้มาตรฐานของการทำการเกษตรของชุมชน

อีกสิ่งที่ต้องทำคู่กัน คือการทำชุมชน Reality เน้นให้ชุมชนพัฒนาคอนเทนต์เพื่อการค้า การแสดง ซอฟต์พาวเวอร์ การเผยแพร่วัฒนธรรม การท่องเที่ยว สู่ตลาดโลกและตลาดอีคอมเมิร์ซ จนทำให้เกิดรายได้หมุนเวียน มีการค้ารูปแบบใหม่ เกิดการขายคอนเทนต์ และสามารถขยายตลาดจาก 1 ต่อ 1 เป็น 1 ต่อ 10 ล้าน ด้วยเครื่องมือดิจิทัลในการเปิดประตูการค้าไร้พรหมแดน

ดังนั้นศูนย์ดิจิทัลชุมชนที่มีอยู่ประมาณ 2,000 แห่ง จะถูกขยายเป็นช่องทางการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัลของชุมชนและเป็น Co-Working Space หรือสภากาแฟดิจิทัสชุมชน ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างความรู้

โครงการ "ชุมชนดิจิทัล ชุมชนโดรนใจ" จึงเป็นโครงการที่ท้าทาย และหากทำได้แบบครบวงจรจะช่วยส่งเสริมให้นโยบายการสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจชุมชน เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน