posttoday

นักวิชาการ หนุน ธปท.ขึ้นดอกเบี้ย สกัดเงินไหลออก ชี้ไม่กระทบเศรษฐกิจฟื้นตัว

28 กันยายน 2566

ร.ศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ชี้ธปท.มาถูกทาง ขึ้นดอกเบี้ยสกัดเฟ้อ-ชะลอเงินไหลออก แม้ประเมินเศรษฐกิจแย่จนต้องหั่นจีดีพีปีนี้ เหลือ 2.8% เชื่อขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบเศรษฐกิจ มองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐช่วยชดเชย ดันเศรษฐไทยฟื้น

จากกรณี ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ต่อปี จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี และปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2566 เหลือโต 2.8% จากคาดการณ์เดิม 3.6%  นั้น ทำให้หลายฝ่ายเกิดข้อสงสัย และกังวลว่า เหตุใดธปท.จึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางชะลอลง จนธปท.ต้องหั่นจีดีพีมากถึง 0.8% ซึ่งถือจะเป็นการเพิ่มต้นทุนภาคธุรกิจ หรือซ้ำเติมเศรษฐกิจอีกหรือไม่

 

ต่อเรื่องนี้ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง มองว่า การประเมินเศรษฐกิจของ กนง. หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะมองไประยะข้างหน้า และมองภาพรวม โดยชั่งน้ำหนักความสมดุลของเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินในรอบนี้ กนง.ได้ให้น้ำหนักใน 3 เหตุผลหลัก ได้แก่

 

ประการแรก ธปท.เห็นช่องว่างของส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐ และไทย รวมถึงประเทศต่างๆ มีความห่างมากเกินไป ซึ่งส่งผลต่อเงินทุนไหลออก โดยขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐอยู่ในระดับสูงที่ 5.25-5.50% ต่อปี และในปลายปีนี้ มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอีก 0.25% ต่อปี ขณะที่ก่อนที่ธปท.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ระดับ 2.25% ต่อปี ทำให้มีส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐ ห่างกันมากถึง 3% ถือว่าสูงมาก จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยน หรือค่าเงินของประเทศที่กำลังพัฒนาอ่อนค่าลงทุกประเทศ ดังนั้นหากไม่ลดช่องว่างอัตราดอกเบี้ยลง จะยิ่งทำให้ค่าเงินอ่อนลงไปอีก 

 

“การขึ้นดอกเบี้ยของธปท.แม้ตอนนี้จะไม่ทำให้หยุดการไหลออกของเงินทุนได้ทันที แต่จะช่วยชะลอการไหลออกของเงินได้ ซึ่งเงินจะหยุดไหลออกก็ต่อเมื่อคนรู้สึกว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับขึ้นสูงสุดแล้ว” รศ.ดร.สมชายกล่าว

 

ประการที่สอง ธปท.ต้องการสกัดเงินเฟ้อ แม้ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อของไทยจะทรงตัว แต่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะปัจจัยกดดันจากราคาพลังงาน หรือราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ที่ตอนนี้เคลื่อนไหวอยู่ที่ 95-96 ดอลลาร์สหรัฐต่อบารณ์เรล และมีความเป็นไปได้ว่าจะปรับขึ้นมาอยู่ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อทิศทางออกแบบมาแบบนี้ ทำให้การจัดการเงินเฟ้อของธนาคารกลางยากลำบากมากขึ้น

 

“คาดว่าอีก 2 เดือนข้างหน้ามีสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยอีก ดังนั้นปีหน้ามีแนวโน้มชัดว่าสหรัฐจะไม่ลดดอกเบี้ย ทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ระดับสูง ยากที่จะลง ทำให้ใครต่อใครหันมาซื้อตราสารที่มีผลตอบแทนสูง ส่งผลทำให้ดอลลาร์แข็งค่าอย่างมาก ”รศ.ดร.สมชาย กล่าว

 

ประการที่สาม เนื่องจากตอนนี้รัฐบาลมีความเปลี่ยนแปลง ในอนาคตการขึ้นอัตราอัตราดอกเบี้ยของธปท.จะทำได้ลำบากมากขึ้น เพราะมองในแง่การเมืองต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อาจมีการขัดแย้งในด้านนโยบายการเงินได้ ทำให้ธปท.จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรับมือไว้ล่วงหน้า
 

 

“ธปท.กับการเมืองจะมองคนละจุด เมื่อรัฐบาลใหม่จะมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ธปท.ให้ความสำคัญในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทำให้ธปท.ประเมินว่าหากปล่อยไป จะขึ้นดอกเบี้ยในตอนหลังจะทำได้ยาก จึงต้องขึ้นไปก่อน เพื่อกระสุน หรือมีเครื่องมือในการดูแลเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า” รศ.ดร.สมชายกล่าว
 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจสูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ต้นทุนดอกเบี้ยจะฉุดให้เศรษฐกิจไทยแย่ลงเสมอไป เห็นได้จากดอกเบี้ยของสหรัฐ แม้ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ก็ไม่ได้มีผลทำให้เศรษฐกิจสหรัฐแย่ลงไป หรือได้รับผลกระทบโดยตรง ขณะที่อัตราการว่างงานมีจำนวนน้อยสุดเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับไทย แม้ว่าเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่เศรษฐกิจจะถูกชดเชยด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การลงทุนของรัฐบาล และการท่องเที่ยว ที่คาดว่า ปีหน้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาอยู่ที่ 40 ล้านคนเท่ากับช่วงยุคก่อนโควิด-19 

 

รวมทั้งการฟื้นตัวของตัวเลขเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญ โดยคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัวได้ 2.8% ปีหน้าคาดว่าจะโตได้ถึง 3.5-4%ต่อปี ส่วนเศรษฐกิจจีน คาดว่า เศรษฐกิจจะโตได้กว่า 4.7-4.8% แม้จะมีปัญหาเรื่องอสังหาริมทรัพย์ที่ยังเป็นตัวแปรสำคัญ ส่วนสหรัฐคาดว่าโตกว่า 1% โดยเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดีอยู่ 


ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ โดยเฉพาะนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ที่ใช้เม็ดเงิน 5.6 แสนล้านบาท นั้นเชื่อว่า ไม่ได้ทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นมากนัก เมื่อมาเปรียบเทียบกับ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาพิษโควิด ที่มีเม็ดเงินรวม 2 ล้านล้านบาท ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ได้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ตัวที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจริง คือ ราคาพลังงาน 

 

“สรุปได้ว่า ธปท.มาถูกทางแล้ว กับการทำนโยบายการเงินของธปท. เพราะตอนนี้มีช่องว่างของดอกเบี้ยยังสูงอยู่มาก และปัญหาเงินเฟ้อที่มีทิศทางสูงขึ้น จากปัจจัยต่างๆ จึงมีความจำเป็นที่ต้องขึ้นดอกเบี้ย ท่ามกลางการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลง เพราะธปท.ไม่ได้ดูแลเศรษฐกิจเพียงด้านใดด้านเดียว หรือจุดใดจุดหนึ่ง แต่ต้องดูภาพรวม ดูแลเสถียรภาพทั้งหมด” รศ.ดร.สมชาย กล่าว