posttoday

คลัง ชงพักหนี้เอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบโควิด 1 ปี

20 กันยายน 2566

คลังเตรียมพักหนี้เอสเอ็มอี อยู่ในรหัสที่ 21 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทั้งลูกหนี้แบงก์รัฐ และแบงก์พาณิชย์ กว่า 3 ล้านราย เป็นระยะเวลา 1 ปี พร้อมชงบอร์ด ธ.ก.ส. พักหนี้เกษตรกร 3 ปี ก่อนเสนอครม.เคาะสัปดาห์หน้า

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการพักหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นเอสเอ็มอีที่อยู่ในรหัส 21 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือลูกหนี้ลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้เกินกว่า 90 วัน เป็นเวลา 1 ปี ทั้งลูกหนี้ที่อยู่ในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์  โดยลูกหนี้ทั้งกล่าวมีทั้งหมดราว 3 ล้านราย มูลหนี้ 3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ไม่มีประวัติผิดชำระหนี้ แต่เป็นหนี้เสีย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา 

 

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เอสเอ็มอีกลุ่มดังกล่าว เป็นลูกหนี้ธนาคารออมสินมากที่สุด ส่วนลูกหนี้ที่เป็นธนาคารพาณิชย์นั้น จะมีการหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย  เพื่อขอความร่วมมือในการดำเนินมาตรการดังกล่าว 

 

"การพิจารณาพักการชำระหนี้ของเอสเอ็มอีนั้น จะมีการกำหนดกรอบของมูลหนี้ที่สามารถเข้าโครงการนี้ได้ มิฉะนั้นภาระการชดเชยจะบายปลายไปมาก  ซึ่งหนี้ของเอสเอ็มอีมีทั้งที่อยู่ในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และอยู่ในธนาคารพาณิชย์ จึงต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณามากกว่าการพักหนี้ให้กับเกษตรกร" นายจุลพันธ์ กล่าว

 

ส่วนเอสเอ็มอีที่ขณะนี้อยู่ในมาตรการช่วยเหลือของรัฐแล้ว จะไม่ถูกรวมเข้ามาในโครงการพักหนี้ครั้งนี้ของรัฐบาล แต่กระทรวงการคลังจะพิจารณาหาวิธีการให้สามารถเข้าโครงการพักหนี้ในปีถัดๆไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี จะลงนามแต่งตั้งคณะทำงาน เรื่องการพักหนี้ของเอสเอ็มอี ที่กรรมการประกอบด้วยตัวแทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธกส. ธนาคารออมสิน สมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีตนเป็นประธานคณะทำงานชุดนี้

 

ขณะที่โครงการพักการชำระหนี้เกษตรกร 3 ปีนั้น ภายในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. เพื่ออนุมัติในรายละเอียด เช่น มูลหนี้ไม่เกินเท่าไหร่ จะสามารถเข้าโครงการพักหนี้ได้ และกระทรวงการคลัง จะเสนอให้ครม.พิจารณาอนุมัติ ในการประชุม ครม.ในวันอังคารที่ 26 ก.ย.นี้

 

สำหรับการพักกาชำระหนี้ของเกษตรกรในครั้งนี้ จะแตกต่างจากการพักหนี้เกษตรกรในอดีต กล่าวคือ แม้จะเข้าโครงการพักหนี้แล้วก็ตาม แต่เกษตรกรยังสามารถกู้ยืมเงินเพิ่มเติมจา ธ.ก.ส.ได้ เพื่อนำไปประกอบอาชีพ เพื่อให้หลังจากพ้นระยะเวลาการพักหนี้ภพ​แล้ว เกษตรกรจะกลับมาแข็งแกร่งขึ้นอีกครั้ง โดยระหว่างการพักหนี้ ธ.ก.ส.ก็จะเปิดโอกาสให้เกษตรกร ที่มีความต้องการชำระหนี้ สามารถชำระหนี้เข้ามาได้ โดยเงินที่มาชำระหนี้จะนำไปตัดส่วนที่เป็นเงินต้น เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพื่อให้หลังพ้นระยะเวลาการพักชำระหนี้แล้ว เกษตรกรจะได้มีภาระหนี้ลดลง