posttoday

ธีระชัย ส่งจดหมาย เตือนเศรษฐา นั่งนายกฯควบคลัง เสี่ยงขัดกันซึ่งผลประโยชน์

15 กันยายน 2566

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ส่งจดหมายเปิดผนึกเตือน เศรษฐา นั่งนายกฯ ควบตำแหน่งรมว.คลัง เสี่ยงเกิดการขัดกันซี่งผลประโยชน์ อาจขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

เมื่อวันที่ (14)นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว “Thirachai Phuvanatnaranubala ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า ตามที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพร้อมกันนั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า อาจจะมีความเสี่ยงเกิดการขัดกันซึ่งผลประโยชน์ในการกำกับดูแลการทำงานของกระทรวงการคลังได้ จึงขอกราบเรียนข้อมูลมาดังนี้

 

ก่อนหน้ารัฐสภาลงคะแนนเลือกท่านเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 มีกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ แสดงข้อสงสัยในที่สาธารณะ ว่าท่านอาจเกี่ยวข้องพัวพันกับการดำเนินการบางประการในบริษัทจดทะเบียนที่อาจเข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย อันอาจฝ่าฝืนพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวจะต้องดำเนินการโดยหน่วยงานในกระทรวงการคลังเป็นจุดเริ่มต้น ดังนั้น การที่ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย่อมทำให้เกิดความเคลือบแคลงในสายตาของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาความโปร่งใสตรงไปตรงมาอยู่แล้ว

 

ปรากฏว่าในวันที่ 13 กันยายน 2566 ท่านได้ทำหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 2106/2566 เรื่อง การมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยคำสั่งดังกล่าวมอบให้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มีอำนาจในการสั่งการการอนุญาต การอนุมัติ การกำกับดูแล และการปฏิบัติราชการหรือดำเนินการอื่นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะพึงปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือมติของคณะรัฐมนตรี 

 

สำหรับงานของกรมสรรพากร ในขณะที่คำสั่งนี้ไม่ได้มอบให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังผู้ใดปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการสำหรับงานของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ท่านจึงเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการสำหรับสามหน่วยงานนี้โดยตรง

 

ข้าพเจ้าขอเรียนว่าสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะองค์กรที่รับผิดชอบพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ย่อมได้รับทราบจากสื่อสาธารณะ รวมทั้งอาจจะได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายชูวิทย์ด้วยแล้ว 

 

ทั้งสององค์กรจึงจะต้องทำการตรวจสอบกรณีที่เกี่ยวข้องกับตัวท่าน ซึ่งขั้นตอนการตรวจสอบบางส่วนอาจจะต้องมีการสอบทานเส้นทางการโอนเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งได้ปรากฏข้อมูลว่ามีผู้ที่ร้องเรียนต่อกรมสรรพากร ขอให้ตรวจสอบการดำเนินการบางประการในหรือที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัทจดทะเบียน ที่อาจเข้าข่ายเป็นการสมคบคิดกันเพื่อเลี่ยงกฎหมายภาษีอากร ซึ่งมีการพาดพิงถึงตัวท่าน

 

ข้าพเจ้าขอเรียนว่าตัวเองมิได้สงสัยในความซื่อสัตย์สุจริตของตัวท่าน แต่ท่ามกลางข้อสงสัยและข้อร้องเรียนเกี่ยวกับตัวท่านนั้น การที่ท่านควบคุมหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบ เรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินการของท่านในอดีตได้แบบรวมศูนย์ โดยกรณีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง  ที่มีอำนาจในการสั่งการกรมสรรพากรก็เป็นบุคคลในพรรคการเมืองเดียวกับท่าน จึงย่อมไม่สามารถขจัดความเคลือบแคลงในประชาชนว่าท่านอาจจะมีอิทธิพลต่อการทำงานที่เกี่ยวข้องกับตัวท่านได้โดยทางตรงหรือทางอ้อม

 

ข้าพเจ้าจึงมีข้อแนะนำว่า มีความเสี่ยงว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องอาจมีการดำเนินการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2561 หมวด 9 เรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ประกอบมาตรา 160(5) ซึ่งบัญญัติว่ารัฐมนตรีจะต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และเพื่อประกอบการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของท่านต่อไป

ธีระชัย ส่งจดหมาย เตือนเศรษฐา นั่งนายกฯควบคลัง เสี่ยงขัดกันซึ่งผลประโยชน์

ธีระชัย ส่งจดหมาย เตือนเศรษฐา นั่งนายกฯควบคลัง เสี่ยงขัดกันซึ่งผลประโยชน์