posttoday

พิษโควิด ทำคนไทยหนี้ พุ่ง 12.9 ล้านล้านบาท

28 สิงหาคม 2566

สศช. เผยผลพวงโควิด ทำครัวเรือนไทยหนี้พุ่ง ยอดชำระหนี้ค้างชำระ 1-3 เดือน ทะยานกว่า 5.2 แสนล้านบาท สินเชื่อบ้าน-รถยนต์-สินเชื่อบุคค มีปัญหามากสุด ผู้สูงอายุมีก่อหนี้เสียเพิ่มขึ้

นายดนุชา พิชยนันท์  เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนไทยจากข้อมูล จากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ NCB ไตรมาส1 ปี 2566 พบว่า หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 12.9 ล้านล้านบาท โดยมีบัญชีสินเชื่อในระบบประมาณ 83.1 ล้านบัญชี ซึ่งในช่วง COVID-19 ครัวเรือนมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหนี้ครัวเรือนขยายตัวที่ 5.7 3.8% และ 4.2% ระหว่างปี 2563 – 2565  

 

โดยประเภทหนี้ที่มีการขยายตัวสูงที่สุด คือ หนี้ที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวเฉลี่ย  5.9% ต่อปี ในช่วงเวลาเดียวกันรองลงมาเป็นหนี้อื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยสินเชื่อเพื่อการเกษตร สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ และสินเชื่อที่ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ ที่ขยายตัวเฉลี่ย  5.7% ต่อปี และหนี้ส่วนบุคคลขยายตัว 5.4% หนี้บัตรเครดิต2.8%  และหนี้รถยนต์ที่ 1.1%  

 

ด้านความสามารถในการชำาระหนี้ พบว่า NPL หรือหนี้ที่มีการค้างชำระมากกว่า 3 เดือน ในปี 2563หดตัว  7.7% และทำให้สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 7.4% ลดลงจาก  8.5% ในปี 2562 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินและมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ในช่วง COVID-19 ที่ช่วยชะลอการเป็น NPL ขณะที่ในปี 2564 และ 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เริ่มสิ้นสุดลง สัดส่วน NPLต่อสินเชื่อรวมจึงปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น  7.7% และ 7.6% ตามลำดับ 

 

ทั้งนี้ หนี้ที่มีปัญหามากที่สุด ในปี 2565 คือหนี้อื่น ๆ ซึ่งมีสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 14.3 %รองลงมาเป็นหนี้บัตรเครดิต  9.8% หนี้ส่วนบุคคล 9.2% หนี้รถยนต์  7 %และหนี้ที่อยู่อาศัยที่ 3.5%

 
สำหรับ หนี้ที่ค้างชำระระหว่าง 1 - 3 เดือน(SML) พบว่า มีมูลค่าลดลงในปี 2563 ที่  24.7% และขยายตัวเพิ่มขึ้นมากถึง  42.7% ในปี 2564 และ  22 % ในปี 2565 ซึ่งมีมูลค่ากว่า 5.2 แสนล้านบาท ถือเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลเมื่อเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 ที่มีมูลค่าเพียง 3.3 แสนล้านบาท 
 

 

ทั้งนี้ ภาพรวมสัดส่วนSML ต่อสินเชื่อรวมปี 2565 อยู่ที่ 4%ซึ่งสัดส่วน SML ต่อสินเชื่อรวมในหนี้รถยนต์สูงที่สุดถึง  7.5% รองลงมาเป็นหนี้ส่วนบุคคล4.6%  หนี้ที่อยู่อาศัย 2.8%  หนี้อื่น ๆ  2.6% และหนี้บัตรเครดิต 1.7%  

 

"สิ่งที่ต้องความสำคัญ คือ สินเชื่อส่วนบุคล สินเชื่อบัตรเครดิต ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนี้สินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 14 เดือน และต้องระวังสินเชื่อการซื้อขายบ้านมืองสอง พบว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ที่ผู้ขายบอกรายละเอียดไม่ครบทำให้เกิดเรื่องร้องเรียนตามมามากขึ้น" นายดนุชา กล่าว

 

ขณะที่เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้จำแนกตามวัตถุประสงค์ และกลุ่มอายุ พบว่า

1. ทุกกลุ่มอายุมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นในช่วง COVID-19 โดยกลุ่ม 40 - 49 ปี มีมูลค่าหนี้สินคงค้างสูงที่สุดในช่วงปี 2563 - 2565 โดยปี 2565 มีมูลค่าหนี้คงค้าง 3.9 ล้านล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 30 - 39 ปีที่ 3.6 ล้านล้านบาท แต่หากพิจารณาการขยายตัว พบว่าหนี้ของกลุ่มผู้สูงอายุขยายตัวสูงที่สุด ซึ่งในระหว่างปี 2563 - 2565 ขยายตัวเฉลี่ยถึง 7.9%  ต่อปี

 

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาโครงสร้างหนี้แต่ละช่วงวัยยังพบว่า แต่ละกลุ่มมีภาระหนี้ที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี มีสัดส่วนอยู่ที่ 41.2% กลุ่มอายุ 30 – 39 ปีมีสัดส่วนอยู่ที่ 50.3%  และกลุ่ม 40 – 49 ปีอยู่ที่ 41.1%  ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่อยู่อาศัย 

 

ขณะที่กลุ่มอายุ 50 - 59 ปีและกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นหนี้อื่น ๆ หรือสินเชื่อเพื่อการเกษตร สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ และสินเชื่อที่ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนดังกล่าวสูงถึง 41.4% ในปี 2562 และเพิ่มเป็น 42.2% ในปี 2565