posttoday

อดีตขุนคลัง ชี้ คนมีฐานะ ไม่ควรได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ

16 สิงหาคม 2566

“สมหมาย ภาษี” อดีตรมว.คลัง เห็นด้วยปรับเกณฑ์รับเบี้ยผู้สูงอายุ แนะรัฐบาลกู้วิกฤตศรัทธา สร้างความเข้าใจประชาชน ขอคนรวยใช้งบดูแลคนมีรายได้น้อย สร้างความยั่งยืนด้านการคลัง ชี้งบประมาณดูแลคนแก่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลใหม่ต้องจัดการ

นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณี การปรับแก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ “ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” ว่า เห็นด้วยกับทางรัฐบาลที่จะปรับเกณฑ์การรับเบี้ยผู้สูงอายุ โดยมองว่า ผู้สูงอายุที่ยังมีรายได้ หรือมีฐานะอยู่แล้วไม่ควรจะได้รับสวัสดิการจากภาครัฐในส่วนนี้ ควรนำงบประมาณประเทศไปดูแลผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ เพราะต้องยอมรับว่า ปัจจุบันภาครัฐมีภาระด้านงบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุจำนวนที่สูง และยังมีอัตราที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี

“เห็นด้วยที่จะปรับเกณฑ์การรับเบี้ยผู้สูงอายุ เพราะยังมีคนจนจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับสวัสดิการ แต่รัฐควรมีระบบคัดกรองที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเชื่อว่า มีเครื่องมือดำเนินการอยู่มากมาย รัฐมีบิ๊กดาต้า มีฐานข้อมูลประชาชน ที่ได้เก็บมาตลอด 6-7 ปีที่ผ่านมา สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่คีย์สำคัญตอนนี้ คือ คนไม่ศรัทธารัฐบาล เวลาทำอะไรคนก็ไม่เชื่อถือ ยิ่งสถานการณ์การเมืองแบบนี้ มันสะท้อนความเสื่อมของรัฐ  แต่หากบริหารจัดการโปร่งใส มีเหตุผลอธิบายได้ เชื่อว่าคนก็ฟัง เสียงคัดค้านจะน้อยลง ดังนั้นนอกจากการสร้างความเข้าใจ ต้องสร้างความศรัทธาประชาชนที่มีต่อรัฐให้กลับคืนมาด้วย ”นายสมหมาย กล่าว 

 

นายสมหมาย กล่าวด้วยว่า งบประมาณการดูแลผู้สูงอายุของรัฐบาล ทั้งที่มาจากสวัสดิการเบี้ยยังชีพคนชรา ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ยังมีงบประมาณดูผู้สูงอายุอื่นๆจากนโยบายทางการเมือง รวมทั้งนโยบายแจกเงินดิจิทัล  1 หมื่นบาท ตามที่รัฐบาลใหม่ได้หาเสียงไว้ และยังไม่รวมงบประมาณบริหารประเทศด้านอื่นๆ ดังนั้นการหารายได้เพื่อรองรับตรงนี้ ในช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลใหม่ต้องเจอ หรือบริหารจัดการให้ได้

 

สำหรับ งบสวัสดิการผู้สูงอายุของไทย ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 2564  อยู่ที่ 56,462 ล้านบาท ปี 2565 อยู่ที่ 82,341 ล้านบาท ทั้งปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 86,000 ล้านบาท และปี 2567 คาดว่าเพิ่มขึ้นไปแตะที่ 90,000 ล้านบาท โดยมีผู้สูงอายุรับเบี้ยยังชีพประมาณ 11 ล้านคน นอกนั้นเป็นผู้สูงอายุในกลุ่มข้าราชการเกษียณอายุที่รับเงินบำนาญจากรัฐ