posttoday

ส่องโพรไฟล์ ชานนท์ เรืองกฤตยา ฝ่าวิกฤติรอบใหม่หลัง แอชตัน อโศก ถูกสั่งทุบ

03 สิงหาคม 2566

ส่องโพรไฟล์ โก้-ชานนท์ เรืองกฤตยา ผู้ก่อตั้งและ CEO บมจ. อนันดา ฯ ผู้กำลังฝ่าวิกฤติครั้งใหม่ หลังศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก จากที่ใช้ทางร่วมกับที่ดินเวนคืนของ รฟม.

ภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุด ได้ออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก  (Ashton Asoke) ของบมจ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) เนื่องจากใช้ทางร่วมกับที่ดินเวนคืนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้น ทางชานนท์ เรืองกฤตยา เจ้าของและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แห่ง ANAN ได้ขอเวลา 14 วัน เพื่อหารือกรุงเทพมหานคร ฯ (กทม.) และ รฟม. เพื่อหาทางออกและเยียวยาผลกระทบ 

จนล่าสุดชานนท์ ได้เสนอ 3 แนวทางแก้ปัญหาที่ครอบคลุมทั้งการลดผลกระทบต่อตัวลูกบ้าน ตัวบริษัท และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมยืนยันถึงการดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทที่เพิ่งขายดิบขายดีไปไม่นานนี้ แต่ก็ดูเหมือนวิกฤตินี้จะไม่ได้คลี่คลายโดยง่าย เมื่อเจ้าของอาคารด้านหลังโครงการ แอชตัน อโศก มานานกว่า 30 ปี ออกปฏิเสธที่จะไม่ขายให้กับ บมจ. อนันดาฯ 

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีความคืบหน้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงมาเปิดประวัติผู้ก่อตั้ง ANAN เจ้าของโครงการ แอชตัน อโศก และเส้นทางนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ ชานนท์ ในแง่มุมต่าง ๆ ให้มากขึ้น 

โครงการแอชตัน อโศก  (Ashton Asoke)

ชานนท์ ปัจจุบันอายุ 49 ปี สมรสกับ ไพลิน (ภัทรารุ่งรัตนสุนทร) เรืองกิตติยา มีบุตรคือ รีฟ-ชานันท์ เรย์-ชนินทร์ และ เรน เรืองกฤตยา โดยเขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์ University of California at Berkeley, U.S.A. และปริญญาโทการเงินและการบัญชี ระหว่างประเทศ จาก London School of Economics สหราชอาณาจักร 

จุดเริ่มต้นเส้นทางสายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของชานนท์ มาจากที่ตัวเขาเป็นทายาทคนโตของ เข็มทองและชนัฏ เรืองกฤตยา นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยุคบุกเบิก จึงทำให้เขาเติบโตมากับไซต์ก่อสร้างตั้งแต่เด็ก 5-6 ขวบ จากที่พ่อพาไปทำงานด้วย ประหนึ่งสอนเรื่องธุรกิจในทางอ้อม เพื่อให้เห็นวิธีการทำงาน และตรวจงาน นับว่ารู้จักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาตลอดชีวิตก็ว่าได้ 

กระทั่งเรียนจบ ในวัย 27 ปี ชานนท์ก็ได้มาพลิกฟื้นและสานต่อกิจการของครอบครัว ที่เป็นผู้พัฒนาโครงการดัง เช่น สนามกอล์ฟ “กรีนวัลเลย์” และโครงการบ้านหรู “วิลมิลด์” ย่านถนนบางนา-ตราด ก่อนโดนวิกฤติต้มยำกุ้งพ่นพิษ 

จากจุดนี้ ชานนท์ ได้นำวิชาความรู้ด้านการเงิน มากอบกู้กิจการของครอบครัวที่ครั้งนั้นชานนท์เคยบอกเล่าว่า "เข้าสู่อุโมงค์ที่มืดมิด" จึงมีภารกิจที่ต้องช่วยปรับโครงสร้างหนี้ที่บ้านเป็นเวลาถึง 3 ปี ควบคู่กับการสร้างเครดิตให้ตัวเองกับธนาคารเจ้าหนี้ กระทั่งสะสางภาระหนี้สินต่าง ๆ จนจบ ตลอดจนเก็บประสบการณ์ด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไปพร้อมกัน 

แต่หลังจากสานต่อธุรกิจของครอบครัวได้สักระยะ ชานนท์พบว่าจุดหมายในการทำธุรกิจของเขาและพ่อไม่ไปไปทิศทางเดียวกัน จึงตัดสินใจสร้างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตัวเองขึ้นในนามบมจ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เมื่อปี 2542 และเริ่มจำหน่ายคอนโดมิเนียมโครงการแรกคือ ไอดีโอลาดพร้าว 17 ในปี 2550 

โดยปัจจุบันชานนท์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ที่ครองสัดส่วน 33.43% (ณ วันที่ 15 มี.ค. 2566) ของ ANAN บริษัทอสังหาฯ ที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดกว่า 3.29 พันล้านบาท

มาถึงวันนี้แม้ว่า บมจ. อนันดาฯ ยังไม่ผ่านพ้นวิกฤติของโครงการแอชตัน อโศก ไปโดยง่าย แต่ก็ต้องยอมรับว่าชื่อเสียงและความสำเร็จที่ ANAN สะสมมาก็มีไม่น้อย ซึ่งส่วนสำคัญมาจากวิสัยทัศน์ของผู้นำอย่างชานนท์ ที่เคยปักหมุดหมายว่าต้องการเป็น "ผู้นำด้านการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยติดสถานีขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร" 

จากนี้นอกจากลุ้นว่าปัญหาของโครงการแอชตัน อโศก จะไปจบที่ทางออกเช่นไรแล้ว ยังต้องติดตามอีกว่าเป้าหมายของชานนท์ ที่กำหนดเส้นชัยในปีนี้ให้ ANAN รับรู้รายได้ 1.4,5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 20% จากปีที่ผ่านมา) และวางเป้าทำยอดขายถึง 1.8 ล้านบาทจะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่