posttoday

กกร. ห่วงตั้งรัฐบาลยืดเยื้อฉุดเศรษฐกิจรอบด้าน-ภัยแล้งกระทบ 5.3 หมื่นล้าน

02 สิงหาคม 2566

กกร.ห่วงตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้ากระทบเศรษฐกิจหลายด้าน คงGDPปีนี้ โตตามกรอบเดิมที่ 3-3.5% หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวชะลอ เศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายสูง จากการส่งออก-รายได้ท่องเที่ยวยังต่ำ จี้เร่งตั้งรัฐบาล-ห่วงภัยแล้งรุนแรงกว่าคาด สร้างความเสียหาย 5.3 หมื่นล้าน

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ที่ประชุมกกร.คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังคงเติบโตอยู่ที่ 3.0-3.5% ตามกรอบเดิมที่ประเมินไว้ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง เศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปีเผชิญผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรป และความกังวลเงินเฟ้อ ส่งผลให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศประเมิน การเติบโตเศรษฐกิจโลกเพียง 3% 

 

ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยมีแนวโน้มแผ่วลง สะท้อนจากจีดีพีไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวเพียง 6.3% ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ 7.3% และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่เป็นผลมากนัก ดังนั้น ภาคการส่งออกสินค้าของไทยยังคงเผชิญแรงกดดันจากอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคาดว่า การส่งออกของไทยในปีนี้ จะติดลบอยู่ที่ 2.0-0.0% ตามคาดการณ์เดิม และเงินเฟ้อ อยู่ที่ระดับ 2.2-2.7% 

 

ขณะที่ เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีความท้าทายสูง แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมในปีนี้ มีโอกาสที่จะฟื้นตัวเป็นไปตามคาดที่ 29-30 ล้านคน แต่การใช้จ่ายต่อหัวยังต่ำอยู่ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาเต็มที่ ภาคครัวเรือนยังมีความกังวลต่อภาระค่าครองชีพ ขณะที่ครัวเรือนไทยมีหนี้สิน 5.56 แสนบาทต่อครัวเรือน สูงสุดในรอบ 15 ปี หรือมีจำนวน 54%  และห่วงว่าเศรษฐกิจจะถดถอย ประกอบกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับลดลง มีความกังวลต่อความยืดเยื้อของสถานการณ์ทางการเมือง และการชะลอตัวของการส่งออก 

 

“ภาคเอกชนกังวลต่อการเมืองที่ยืดเยื้อ จะกระทบการทำงบประมาณรายจ่ายของรัฐปี 2567  ขณะที่ปัญหาภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นมากกว่าคาด โดยเดือนก.ค.66 ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับวิกฤต โดยเฉพาะภาคกลาง และภาคตะวันตกมีประมาณน้ำใช้การได้ ใกล้เคียงปี 58 ซึ่งเป็นปีที่ภัยแล้งรุนแรง ประเมินว่า อาจจะสร้างมูลค่าความเสียหายสูงถึง 5.3 หมื่นล้านบาท ภาครัฐจึงต้องให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา และผลกระทบต่อภาคเกษตรในช่วงปลายปีนี้ ถึงครึ่งแรกของปี 67 ที่ประชุมจึงมีความเป็นห่วง และต้องการเห็นการเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่โดยเร็ว” นายผยง กล่าว

 

ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือ ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาคเอกชนคาดหวังว่า จะได้เห็นรัฐบาลใหม่ได้ภายในเดือนส.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศ  นอกจากนี้จะช่วยหนุนให้ภาคการท่องเที่ยวกับมาเพิ่มขึ้น ดังนั้นการตั้งรัฐบาลใหม่มีความล่าช้ามากเท่าไร ยิ่งทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในหลายๆด้านจะกระทบไปด้วย ความชัดเจนทางการเมืองไทยเกิดขึ้นเร็วเท่าไรย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย

 

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้น ก็ต้องรอดูหน้าตาครม.ที่มาบริหารเศรษฐกิจว่าจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองไหน ภาคเอกชนก็พร้อมทำงานร่วม เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้