posttoday

เปิดมุมมอง สตาร์ทอัพไทย กรณี รวมเน็ต เอไอเอส-3บีบี มั่นใจหนุนนวัตกรรม AI-IoT

26 กรกฎาคม 2566

ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทย ประสานเสียง หนุนการรวมธุรกิจอินเทอร์เน็ต เอไอเอส-3บีบี เชื่อเสริมภาคธุรกิจปรับองค์กรสู่ยุคดิจิทัล เกิดนวัตกรรมและแอปพลิเคชันใหม่ๆ ทั้ง AI, AR/VR, Robotics, Video Analytics และการเข้าถึงเทคโนโลยี IoT ที่ต้องการความเสถียรในการทำงาน

ดีล เอไอเอส-3 บีบี คาดจบปีนี้

การประกาศมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2565 เพื่อเข้าซื้อหุ้นในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3บีบี จำนวน 7,529,242,385 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน  99.87 % มูลค่ารวม 19,500 ล้านบาท และเข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิส (JASIF) จำนวน 1,520,000,000 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 19.00 % ของจำนวนหน่วยลทุนทั้งหมดของ JASIF ในราคาหน่วยละ 8.5 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 12,920 ล้านบาทรวมสองธุรกรรมว่า “ธุรกรรมซื้อหุ้นและซื้อหน่วยลงทุน” มีมูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท นั้น 

กว่า 1 ปีแล้ว ที่ดีลดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการขออนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ดกสทช.) ซึ่งแม้ว่าดีลดังกล่าว เอไอเอส มองว่า เป็นการเข้าซื้อกิจการ ไม่ใช่ การรวมธุรกิจ เหมือนกรณีเดียวกับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค

แต่ท้ายที่สุด บอร์ดกสทช.ได้ระบุชัดเจนว่าเป็น การรวมธุรกิจเหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องดำเนินกระบวนการทุกขั้นตอนก่อนการพิจารณาให้เหมือนกับดีลทรู-ดีแทค

ทั้งนี้ กสทช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และ บริษัท ทริปเปิล ทรี บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3 บีบี ขึ้น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง,ด้านเศรษฐศาสตร์ , ด้านกฎหมาย และด้านเทคโนโลยี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค. 2566

หากผลการศึกษาของอนุฯด้านใดยังไม่แล้วเสร็จ หรือยังไม่สามารถจัดโพกัส กรุ๊ปได้ ตามที่ควรจะมี ก็สามารถเสนอขยายระยะเวลาต่อบอร์ด กสทช. จากกำหนดเดิมภายในระยะ 90 วัน ออกไปอีกได้ ซึ่งอยู่ที่ดุลยพินิจของบอร์ด กสทช. ว่าจะให้ขยายออกไปอีกกี่วัน เช่น 30 วัน หรือ 60 วัน เพื่อให้การลงมติของบอร์ด กสทช.ว่าจะอนุญาตให้รวมธุรกิจหรือไม่ เสร็จสิ้นก่อนสิ้นปี

สตาร์ทอัพ ขานรับรวมเน็ต สู่ยุคนวัตกรรม

25 ก.ค.2566 กสทช.ได้เริ่มเปิดเวทีโฟกัส กรุ๊ป เพื่อรับฟังความคิดเห็นด้านผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง ทั้งผู้บริโภคที่เป็นผู้ใช้งานตามบ้าน และที่สำคัญคือกลุ่มธุรกิจที่เป็นสตาร์ทอัพ ต่างขานรับ และเห็นด้วยกับดีล เอไอเอส-3บีบี โดยเชื่อว่าการควบรวมเน็ตบ้าน จะสามารถต่อยอดธุรกิจยุค IoT, AI และคลาวด์ ได้ ดังนั้น การรวมเน็ตบ้านจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่ง

เปิดมุมมอง สตาร์ทอัพไทย กรณี รวมเน็ต เอไอเอส-3บีบี มั่นใจหนุนนวัตกรรม AI-IoT

ทำให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และ ดิจิทัลให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง กับธุรกิจสตาร์ทอัพ ส่งเสริมภาคธุรกิจในการปรับองค์กรในยุคดิจิทัล (Digital transformation) อาทิ การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับธุรกิจ, การพัฒนาโซลูชั่นที่สามารถประยุกต์ได้กับธุรกิจที่หลากหลาย (5G Horizontal Solutions) เช่น AI, AR/VR, Robotics, Video Analytics 

รวมถึงภาคอุตสาหกรรมการผลิต, การขนส่ง และโลจิสติก, อสังหาริมทรัพย์, บริการสุขภาพและการเกษตร อีกทั้งจะช่วยส่งเสริมการทำงานร่วมกับพันธมิตรและสร้าง Ecosystem ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์ความต้องการและสามารถนำไปใช้งานได้จริงของภาคธุรกิจ เพื่อยกระดับให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

นายอัจฉริยะ ดาโรจน์ บริษัท มีจีเนียส จำกัด ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านไอที เกี่ยวกับ AI CHATBOT มากว่า 20 ปี ให้ความเห็นว่า เนื่องจากโควิดที่ผ่านมา ธุรกิจอยู่บนออนไลน์ 100% พนักงานต้อง WFH 100% ดังนั้น เน็ตบ้านที่เสถียรและรวดเร็วจำเป็นมาก เอไอเอส มีบริการที่ดี เทคโนโลยีดี ขณะที่ 3บีบี มีโครงข่ายที่ครอบคลุม จะเป็นผลดีกับธุรกิจรายย่อยอย่าง SME ทำให้เข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ได้ รวมถึงการเข้าถึง IoT ที่ต้องอาศัยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่อยู่บนท่อเดียวกัน ทั้งโมบายและไฟเบอร์ เมื่ออยู่บน Virtual network เดียวกัน ก็จะช่วยรองรับ IoT ได้เพิ่มขึ้น

นายทัศนัย แสวงทรัพย์ บริษัท อัครวัสส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ทำระบบ Smart Building จำนวนกว่า 300 โครงการทั่วประเทศ กล่าวว่า เราเป็น Tech company ที่พนักงาน WFH อยู่ตามต่างจังหวัดทั่วประเทศ จึงต้องการแพกเกจทั้งเน็ตบ้านและมือถือที่บันเดิล ตรงนี้ จะช่วยลดต้นทุนภายในบริษัท อย่างเห็นภาพชัดที่สุด

นายยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup)  กล่าวว่า เห็นด้วยกับดีลนี้ เพราะจะมีประโยชน์กับกลุ่มสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการธุรกิจเทค ที่จำเป็นต้องใช้แพลตฟอร์มที่วิ่งอยู่บนอินเทอร์เน็ตแทบทั้งสิ้น หากทั้ง 2 รายรวมกัน แล้วช่วยขยายพื้นที่ให้บริการด้วยเทคโนโลยีความเร็วที่มากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้การทำธุรกิจของกลุ่มสตาร์ทอัพคล่องตัว สะดวก รวดเร็วมากขึ้น และยังมองว่า การบันเดิ้ลแพกเกจก็จะทำให้ FIXED COST ถูกลงด้วย

นายภาโรจน์ เด่นสกุล บริษัท ซิปอีเวนท์ จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่เชื่อมระหว่างคนจัดอีเวนท์และคนมางานอีเวนท์ ทั้งแบบ Onsite และ Online กล่าวว่า การทำธุรกิจด้าน Online event เราพบ Critical Problem ที่เป็น Pain อยู่เสมอ คือเรื่องการความเสถียรของอินเทอร์เน็ต และความสามารถในการรองรับผู้ร่วมอีเวนท์ ดังนั้น เรามองการการรวมกิจการระหว่าง เอไอเอส และ 3บีบี จะส่งผลต่อศักยภาพของอินเทอร์เน็ตที่จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทำให้ SLA ในการให้บริการของเราดีขึ้นด้วย

นายอังคาร เพิ่มพูล คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ มองว่าการรวมกันของ เอไอเอส – 3บีบี จะช่วยขยายตลาดคอนเทนต์จาก 3บีบี มาที่ เอไอเอส ช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาด และยังส่งผลต่อการทำงานของ ครีเอเตอร์ที่ต้องการความเสถียรของเน็ตในการถ่ายโอนข้อมูลด้วย

นายตรัย สัสตวัฒนา บริษัท FYI (Bangkok) จำกัด ผู้ให้บริการด้านวิจัยให้กับหน่วยงานนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาทั่วประเทศ เห็นด้วยกับการควบรวม ถ้าจะทำให้บริการดีขึ้น ที่ผ่านมา เวลาให้บริการให้คำปรึกษากับหน่วยงานต่างๆ หรือการประชุมออนไลน์ ถ้าอินเทอร์เน็ตของทั้ง 2 ฝั่งมีปัญหา ไม่เสถียร ก็จะเป็นอุปสรรคอย่างมาก จึงหวังว่า ถ้า 2 ค่ายนี้รวมกัน จะยกระดับคุณภาพอินเทอร์เน็ตให้ดียิ่งขึ้น

นางสาวพีรดา ศุภรพันธ์ บริษัท Tasted Better (Thailand) จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็น FOOD TECHNOLOGY STARTUP มีการผลิตเบเกอรี่โดยใช้อินเทอร์เน็ตในการบริหารงานภายในองค์กร และพนักงานที่ WFH ก็ต้องสื่อสารกับโรงงานผลิตอาหาร เรื่องอินเทอร์เน็ตจึงสำคัญมากๆ ในอนาคต บริษัทจะขยายธุรกิจไปยังประเทศออสเตรีย จึงจำเป็นต้องใช้การทำงานและสื่อสารทางไกล ทั้งภายในและต่างประเทศ และควบคุมการผลิตอาหาร จึงเห็นด้วยกับการควบรวมของ เอไอเอส – 3บีบี เชื่อว่าจะยกระดับคุณภาพอินเทอร์เน็ตให้ดียิ่งขึ้น

นายชวลิต ดนุลักษณ์ จากหัวเว่ย เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการ ในฐานะของซัพพลายเออร์ มองว่า หากทั้ง 2 บริษัทรวมกันแล้ว ก็จะต้องมีการบริหารจัดการต้นทุน ลดความซ้ำซ้อนของทั้งคู่ลง และต้องมองหาเทคโนโลยีอุปกรณ์ใหม่ๆ เข้ามาตอบโจทย์ลูกค้า และเพิ่มการแข่งขันในตลาด เพื่อดึงดูดลูกค้ามากขึ้น คิดว่าจะทำให้ตลาดเน็ตในภาพรวมแข่งขันกันมากขึ้นด้วยเรื่องคุณภาพ เทคโนโลยี และบริการใหม่

เปิดมุมมอง สตาร์ทอัพไทย กรณี รวมเน็ต เอไอเอส-3บีบี มั่นใจหนุนนวัตกรรม AI-IoT

เปิด 6 ผลกระทบต่อธุรกิจหลังรวมเน็ต

1.ส่งเสริมสภาพการแข่งขันในตลาดต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เกิดการช่วงชิงผู้ใช้บริการ ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ โดยการจัดโปรโมชั่น รายการส่งเสริมการขาย เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งเป็นผลทำให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งมากขึ้น

2.การเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่ ซึ่งการรวมธุรกิจไม่ได้เป็นอุปสรรค และปัจจุบันมีผู้ให้บริการรายย่อย ในพื้นที่ต่างจังหวัดกว่า 100 รายทั่วประเทศ ดังนั้น หากมีผู้ให้บริการรายใหม่ที่ต้องการทำธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ก็สามารถเข้าสู่ตลาดได้ เพราะไม่ต้องใช้คลื่นความถี่ หรือสามารถเช่าใช้โครงข่ายของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF รวมถึง ผู้ให้บริการรายอื่นได้

อีกทั้ง จากข้อมูลผลประกอบการ ปี 2565 พบว่า จำนวนครัวเรือนในประเทศไทยที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ มีจำนวนต่ำกว่า 60% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับอัตราการเข้าถึงในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ในระดับ 80-100 % ต่อจำนวนครัวเรือน หรือเทียบกับอัตราการเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระดับ 177 % เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก ซึ่งการรวมธุรกิจนี้ จะช่วยส่งเสริมตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ให้เติบโตได้ง่าย และรวดเร็วยิ่งขึ้น 

เปิดมุมมอง สตาร์ทอัพไทย กรณี รวมเน็ต เอไอเอส-3บีบี มั่นใจหนุนนวัตกรรม AI-IoT

3.ขนาดของธุรกิจหลังรวมกิจการ ซึ่งต้องอธิบายว่า ขนาดของธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ คิดเป็น 1 ใน 3 ของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น โดยข้อมูลผลประกอบการปี 2565 รายได้ของธุรกิจเน็ตบ้านทั้งภาพรวม อยู่ที่ 66,254 ล้านบาท และมีจำนวนผู้ใช้บริการเพียง 13 ล้านราย

ขณะที่ ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีรายได้รวมกว่า 251,502  ล้านบาท และมีจำนวนผู้ใช้บริการรวมกว่า 101 ล้านเลขหมาย 

ดังนั้น การรวมธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ จึงไม่มีนัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบกับผู้ใช้บริการ เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการไม่มากนัก แต่ในทางกลับกันการให้บริการจะมีคุณภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากความแข็งแกร่งของทั้งสองบริษัท มีส่วนช่วยเติมเต็มการบริการลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น

4.เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และลดการใช้โครงข่ายที่ซ้ำซ้อน เพราะการรวมธุรกิจ นอกจากจะช่วยให้เกิดการประหยัดโดยเพิ่มขนาดแล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์จากการสนับสนุนการใช้ทรัพยากรร่วมกันของทั้งสองเครือข่าย โดยจะมีปริมาณเท่าใดขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้บริการ ว่าพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่สามารถใช้โครงข่ายร่วมกันได้มากน้อยเพียงใด 

5. ช่วยให้การพัฒนาโครงข่ายใยแก้วนำแสง ในประเทศไทยโดยรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล เพื่อนำงบประมาณไปใช้ในการขยายโครงข่ายเพิ่มเติมในพื้นที่ที่ยังไม่มีการให้บริการ หรือไม่เพียงพอต่อการให้บริการ

และลดความซ้ำซ้อนการลงทุนโครงข่าย รวมถึงลดการขาดดุลของประเทศในการซื้ออุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาโครงข่าย รวมถึง ภายหลังการรวมธุรกิจ จะช่วยลดการพาดสายสื่อสารที่ซ้ำซ้อนกัน ปริมาณจึงค่อยๆ ลดลง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสายสื่อสารที่รกรุงรัง และไม่เป็นระเบียบในที่สุด

6. สำหรับกลุ่มผู้รับเหมา เมื่อการรวมธุรกิจส่งเสริมความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น จึงมีการขยายการให้บริการมากขึ้น ทั้งในแง่ของพื้นที่การให้บริการและปริมาณ เพื่อรองรับการใช้งานที่มากขึ้น ดังนั้น จึงจะส่งให้ผู้รับเหมามีปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง มีการพยายามหาบริการ และนวัตกรรมใหม่ เพื่อแข่งขันกับผู้ให้บริการรายใหญ่ได้อย่างเต็มที่

5 ผลกระทบผู้บริโภคเมื่อรวมเน็ต

1.ลูกค้าที่ใช้งานอยู่ปัจจุบัน สามารถเข้าใช้บริการได้หลากหลาย แบบหลอมรวม (Fixed-Mobile Convergence : FMC) โดยมีคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการที่ดีขึ้น จากกลุ่ม เอไอเอส อาทิ คุณภาพโครงข่ายที่เร็วขึ้น เสถียรมากขึ้น ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น อีกทั้ง มีสินค้าและบริการ ให้ลูกค้าเลือกใช้บริการมากขึ้น เช่น บริการดิจิทัลคอนเทนต์ บริการด้านการเงิน ประกันภัย, การเชื่อมต่อ WiFi ในพื้นที่ให้บริการของ เอไอเอส

และบริการอื่นๆ รวมถึง สิทธิประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับมากขึ้น ระบบคอลเซ็นเตอร์ที่มีมาตรฐาน และบริการหลังการขายที่รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึง ลูกค้ายังสามารถใช้บริการที่หลากหลายเพิ่มเติมจากส่วนที่เป็นพันธมิตรของทั้งสองบริษัทอีกด้วย 

เปิดมุมมอง สตาร์ทอัพไทย กรณี รวมเน็ต เอไอเอส-3บีบี มั่นใจหนุนนวัตกรรม AI-IoT

2.ลูกค้าใหม่  มีโอกาสเข้าถึงการสมัครบริการได้สะดวกและรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอการขยายโครงข่าย และมีทางเลือกในการรับบริการหรือโปรโมชั่นให้ดียิ่งขึ้น

3.ลดความเสี่ยงที่ลูกค้าจะไม่ได้รับบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์อย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่ 3บีบี กำลังเผชิญกับการแข่งขันในตลาดที่มีการช่วงชิงลูกค้า และส่วนแบ่งทางการตลาด อย่างรุนแรง ภายใต้ต้นทุนการให้บริการที่คงที่และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ธุรกิจอาจประสบกับปัญหาในอนาคต

ดังนั้น การรวมธุรกิจนอกจากจะช่วยรักษาคุณภาพการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ ยังเพื่อรักษาลูกค้าของ 3บีบี ควบคู่ไปกับการสร้างความเติบโตของธุรกิจด้วย

4. คุณภาพการให้บริการ โดยปัจจุบันเครือข่าย 3บีบี ในหลายพื้นที่ยังใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสายโทรศัพท์ (ADSL) อยู่ การควบรวมธุรกิจนี้ จะช่วยให้ผู้ใช้บริการ 3บีบี ในพื้นที่ที่ เอไอเอส ให้บริการ มีโอกาสได้ยกระดับมาใช้เทคโนโลยี Optical Fiber ซึ่งเป็นเทคโนโลยีความเร็วสูง และมีความเสถียรมากกว่า

5.ส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตในโรงเรียน เนื่องจากปัจจุบัน 3บีบี มีการสนับสนุนอินเตอร์เน็ตให้กับโรงเรียนกว่า 3,000 แห่ง และคาดว่า เมื่อรวมธุรกิจกันแล้ว จะให้บริการอินเตอร์เน็ตฟรี สำหรับนักเรียนเพิ่มมากขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการพัฒนารูปแบบกิจกรรมการเรียนการสอนบนเครือข่ายสังคมออนไลน์

ต้องยอมรับว่า อินเทอร์เน็ตกลายเป็นลมหายใจสำคัญ และจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของคนในทุกๆ ด้าน ดังนั้นการที่ประเทศมีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ครอบคลุมพื้นที่อยู่อาศัยของประชากร และมีคุณภาพความเร็ว แรง และเสถียร จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ช่วยยกระดับคุณภาพการให้บริการ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้น