posttoday

การรถไฟฯ จัดทัวร์รถจักรรุ่นสงครามโลก บนเส้นทางประวัติศาสตร์สู่ฉะเชิงเทรา

15 กรกฎาคม 2566

การรถไฟฯ ขับเคลื่อนกลยุทธ์หารายได้เชิงพาณิชย์ โดยจัดทัวร์รถจักรรุ่นสงครามโลกครั้งที่ 2 บนเส้นทางประวัติศาสตร์สู่ฉะเชิงเทราในแม่แห่งชาติ ด้วยหัวรถแบบไอน้ำหมายเลข 824 และ 850 ซึ่งเริ่มขายตั๋วทั่วประเทศแล้ว

ด้วยสถานะรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในขั้นตอนฟื้นฟูกิจการ ทางการรถไฟฯ หรือการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หลังจากมีหนี้สะสมมากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งล่าสุดได้กำหนดแผนวิสาหกิจการปี 2566 – 2570 ซึ่งอยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการนั้น

สำหรับหนึ่งภารกิจสำคัญของการเร่งหารายได้ ซึ่งการรถไฟฯ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ในขบวนรถเที่ยวพิเศษ ผ่านการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในเส้นทางประวัติศาสตร์ ซึ่งให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวไปพร้อมกับการสัมผัสบรรยากาศของขบวนรถไฟที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน

โดยล่าสุดการรถไฟฯ จัดขบวนรถพิเศษนำเที่ยวรถจักรไอน้ำเส้นทางประวัติศาสตร์ กรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ การรถไฟฯ ได้นำหัวรถจักรไอน้ำ รุ่นแปซิฟิก หมายเลข 824 และ 850 รุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลิตโดยบริษัท นิปปอน ชาร์เรียว จำกัด เริ่มนำมาใช้งานตั้งแต่ปี 2492 ซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาและซ่อมบำรุงอยู่ที่โรงรถจักรธนบุรีมาให้บริการลากจูง ขบวนที่ 903/904  ออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 08.10 น. ถึงสถานีฉะเชิงเทรา เวลา 09.50 น.

ขบวนรถพิเศษนำเที่ยวรถจักรไอน้ำเส้นทางประวัติศาสตร์ กรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. เปิดเผยข้อมูลของกิจกรรมท่องเที่ยวสัมผัสประวัติศาสตร์ของรถไฟไทยในครั้งนี้ว่า วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2566 การรถไฟฯ ได้จัดขบวนรถพิเศษนำเที่ยวรถจักรไอน้ำ เส้นทางกรุงเทพถึงฉะเชิงเทรา ย้อนอดีตบนเส้นทางรถไฟสายเมืองแปดริ้ว ซึ่งเริ่มเปิดจำหน่ายตั๋วโดยสารพร้อมกันทั่วประเทศ วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ที่ผ่านมา

สำหรับเส้นทางท่องเที่ยวสัมผัสประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ จะนำนักท่องเที่ยวเดินทางไหว้พระขอพรสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ชื่อดังในจังหวัดฉะเชิงเทรา และช็อปสุดคุ้มกับสินค้าขึ้นชื่อต่าง ๆ มากมายของชุมชนในจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง และเดินทางกลับออกจากสถานีฉะเชิงเทรา เวลา 16.30 น. ถึงกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 18.10 น.

ทั้งนี้ ขบวนรถจะออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และหยุดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีมักกะสัน คลองตัน และหัวหมาก ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถขึ้น/ลงตามสถานีดังกล่าวได้ ขณะเดียวกันประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เดินทางแต่อาศัยอยู่ใกล้เคียงเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา สามารถร่วมบันทึกความทรงจำ ถ่ายภาพหัวรถจักรไอน้ำในเส้นทางที่ขบวนรถวิ่งผ่านได้เช่นกัน โดยผู้สนใจสามารถติดต่อซื้อตั๋วโดยสารและสำรองที่นั่งล่วงหน้า (สูงสุด 30 วัน) ด้วยระบบ D-Ticket หรือที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ

สำหรับอัตราค่าโดยสาร ประกอบด้วย

รถธรรมดาชั้น 3 ไป - กลับ ผู้ใหญ่/เด็ก ราคา 299 บาท

ตู้โดยสารปรับอากาศ (รถโอทอป) ราคา 799 บาท

อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนวิสาหกิจการปี 2566 – 2570 อยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการนั้น ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ สู่เป้าหมายลดปัญหาการขาดทุนและมีกำไรก่อนหักภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มากกว่า 0 ภายในปี 2570 ประกอบด้วย

1.พัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน

2.พลิกฟื้นธุรกิจหลัก

3.พัฒนาและสร้างรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่งระบบราง

4.ปรับรูปแบบธุรกิจสู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระบบราง

5.ปฏิรูปองค์กรให้สอดคล้องกับการฟื้นฟู

6.พัฒนาระบบรางด้วย BCG Model