posttoday

คปภ. เร่งช่วยเหลือเหยื่อ ทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ถล่ม

12 กรกฎาคม 2566

คปภ. ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณีทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง พังถล่ม พร้อมเร่งเยียวยาความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีโครงการทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง (ช่วงหน้าปั๊มน้ำมัน ปตท.) ถนนหลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ได้พังถล่มลงมาระหว่างการก่อสร้าง ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 12 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ. เขตบางนา และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกันเพื่อตรวจสอบการทำประกันภัยและติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยและครอบครัว เพื่อนำระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม 

 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบความเสียหายทั้งต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินจากการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ พบว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย เป็นพนักงานของโครงการดังกล่าว ส่วนผู้บาดเจ็บ 12 ราย เป็นพนักงานก่อสร้าง 5 ราย และประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจรในบริเวณนั้น 7 ราย โดยตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าโครงการทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ได้มีการทำประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาไว้กับบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นความคุ้มครองวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2568 คุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกวงเงิน 50,000,000 บาท ในสัดส่วน 60% และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 40% 

 

สำหรับทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว เบื้องต้นตรวจสอบพบดังนี้

1. รถจักรยานยนต์ทะเบียน 2ขส 6947

2. รถยนต์ทะเบียน 7กบ 5257 กรุงเทพมหานคร ทำประกันภัยภาคสมัครใจไว้กับ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)

3. รถยนต์ทะเบียน ป้ายแดง 3139 กรุงเทพมหานคร ทำประกันภัยภาคสมัครใจไว้กับ บริษัท ไอโออิ กรุงเทพ ประกันภัย จำกัด (มหาชน)

4. รถยนต์ทะเบียน 5กจ 1028 กรุงเทพมหานคร ทำประกันภัยภาคสมัครใจไว้กับ บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน)

5. อาคาร 3 ชั้น เลขที่ 222/37 ถนนหลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร (อยู่ระหว่างการตรวจสอบการทำประกันภัย)

6. อาคาร 3 ชั้น เลขที่ 222/38 ถนนหลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร (อยู่ระหว่างการตรวจสอบการทำประกันภัย)

7. ปั๊มน้ำมัน ปตท. บริษัท เจียง-อัศวรรณ หนองคาย จำกัด ที่อยู่ 608 ถนนหลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ไว้กับ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำนวนเงินเอาประกันภัย 40,000,000 บาท เริ่มต้นความคุ้มครองวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567

8. ห้างโลตัส สาขาถนนหลวงแพ่ง ได้รับความเสียหายบางส่วน โดยทำประกันภัยไว้กับ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)

 

สำหรับการติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ สำนักงาน คปภ. เขตบางนา ได้ประสานบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุในครั้งนี้แล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้ทุกประการ

 

“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและมีความห่วงใยต่อผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้ และพร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา และกับทุกคน จึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการที่เกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภค หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ซึ่งที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุอยู่เนื่อง ๆ จึงควรทำประกันภัยให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าว