posttoday

ทรูบิสิเนส เร่งสปีดยกระดับ SME กล้าทรานฟอร์มสู่โรงงาน 4.0

16 มิถุนายน 2566

ทรูบิสิเนส ชูความแข็งแกร่งเทเลคอม-เทค เร่งสปีดอุตสาหกรรม 4.0 ยกระดับ SME ด้วยดิจิทัล โซลูชัน หลังพบ SME กว่า 50% กลัวการทรานสฟอร์ม เดินหน้ารุก 3 กลุ่มอุตสาหกรรม โรงงาน ขนส่ง และ พลังงาน

นายพิชิต ธันโยดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจองค์กร บริษัท  ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2565 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)  อยู่ที่ 17.4  ล้านล้านบาท โดยมากกว่า 15% ของ GDP ทั้งประเทศ  มาจากภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งในไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ มีมูลค่าสูงถึง 7.4 แสนล้านบาท 

นอกจากนี้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ยังระบุว่าตลาดดิจิทัลของโซลูชันโรงงานอุตสาหกรรมในไทยมีมูลค่าสูงถึง 7.4 พันล้านบาท  และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องนับจากปีนี้ไป หลังจากผ่านพ้นช่วงสถานการณ์โควิด-19 เห็นได้ชัดว่าผู้ประกอบการโรงงานและอุตสาหกรรมการผลิตมีความต้องการและให้ความสำคัญในการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการผลิตเพิ่มมากขึ้น  เพื่อผลักดันนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า ลดต้นทุน

และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ ทรูบิสิเนส ผู้นำบริการสื่อสารและดิจิทัลโซลูชันครบวงจรสำหรับลูกค้าองค์กร พร้อมเดินหน้าเคียงคู่ผู้ประกอบการไทยมุ่งสู่ ดิจิทัล ทรานสฟอร์มเมชัน โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานขนาดกลางและเล็ก หรือ SME ที่กว่า 50% ยังไม่ทรานสฟอร์มตัวเองสู่ดิจิทัล เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ซึ่งทรูฯมีลูกค้าองค์กรทั้งระดับขนาดใหญ่และ SME อยู่ประมาณ 160,000 ราย เป้าหมายคือต้องทำให้กลุ่มลูกค้าดังกล่าวมีการนำดิจิทัล โซลูชัน เข้ามายกระดับอุตสาหกรรมของตนเอง

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทรู กลายเป็นองค์กรโทรคมนาคม-เทคโนโลยี หลังควบรวมกับดีแทค ทำให้มีเครือข่าย 5G ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมเทคโนโลยีเครือข่ายที่ตอบโจทย์ตรงการใช้งานของภาคอุตสาหกรรม อย่างเช่น เทคโนโลยี mmWave ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการรองรับการเชื่อมต่อกับเครื่องจักร อุปกรณ์ และระบบต่างๆภายในโรงงานได้แบบไร้รอยต่อ มีการรับ-ส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์โดยอัตโนมัติ

อีกทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นระบบเครือข่ายสื่อสารเฉพาะภายในโรงงาน (Private Network) จึงมีความปลอดภัยขั้นสูงของข้อมูล ตลอดจนสามารถเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลภายในโรงงาน นำมาวิเคราะห์ประมวลผล ใช้ประโยชน์ในการวางแผนการบริหารจัดการโรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

ทรูบิสิเนส เร่งสปีดยกระดับ SME กล้าทรานฟอร์มสู่โรงงาน 4.0

นายพิชิต กล่าวว่า นอกจากนี้การเปลี่ยนผ่านธุรกิจจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงการพัฒนาคนในองค์กรให้มีทักษะด้านดิจิทัล สอดรับกับการเปลี่ยนผ่านธุรกิจในยุคดิจิทัล   โดยทุกโซลูชันจากทรูบิสิเนส มาพร้อมเทคโนโลยีความปลอดภัยขั้นสูง ด้านการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ (True Digital Cyber Security) รวมทั้งมีหลักสูตรพัฒนาศักยภาพและเพิ่มพูนทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม  โดยร่วมมือกับ ทรู ดิจิทัล อคาเดมี(True Digital Academy) สร้าง “คนเก่ง” ที่มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการขององค์กรและตลาดแรงงาน ด้วย

ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย พลิกโฉมสู่อุตสาหกรรม 4.0  ทรูบิสิเนส  จัดงาน FACTECH 2023 วันที่ 21-24 มิ.ย. 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค พร้อมความร่วมมือพันธมิตรชั้นนำระดับโลก สร้างสรรค์ 5G และดิจิทัลโซลูชัน ตอบโจทย์ทุกความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุมทุกมิติ 3 กลุ่มหลัก คือ 1. 5G Infrastructure เชื่อมต่อการสื่อสารบนเครือข่าย 5G  2. Cloud Infrastructure บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์ และ 3. TRUE BIZ-TECH ศูนย์รวมโซลูชัน ออกแบบเพื่อตอบโจทย์เฉพาะธุรกิจ ทั้งโซลูชันเพื่อโรงงานอัจฉริยะ ขนส่งอัจฉริยะ และพลังงานอัจฉริยะ 

พร้อมชูจุดแข็งที่แตกต่างของทรู คอร์ปอเรชัน คือ บริการ Cyber Security ยกระดับการตรวจสอบความปลอดภัย และเฝ้าระวังภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ ควบคู่กับทรู ดิจิทัล อคาเดมี สถาบันพัฒนาทักษะดิจิทัลของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและโซลูชันได้เต็มประสิทธิภาพ  อีกทั้งยังมีทีมงานมืออาชีพให้คำปรึกษาและออกแบบโซลูชันตามความต้องการขององค์กร และดูแลบริการหลังการขายอย่างใกล้ชิดในหลากหลายช่องทาง  เล็งขยายตลาดเจาะกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตทุกภูมิภาคทั่วประเทศ อาทิ จ.เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น และสงขลา