posttoday

นฤมล จิวังกูร จากศิลปินสู่เวทีโลกการเงิน พิสูจน์บทบาทผู้นำซิตี้แบงก์ในไทย

10 มิถุนายน 2566

นฤมล จิวังกูร นักร้องยุค 90 ที่โด่งดังในฐานะ 'โฟร์ท ศิลปินค่าย RS' ที่เดินออกจากสายงานบันเทิงสู่เวทีโลกการเงิน โดยก้าวสู่บันไดขั้นแรกด้วยการเป็น FX Trader ก่อนฝ่าความท้ายมาถึง 27 ปี กระทั่งในวันนี้ได้โอกาสพิสูจน์บทบาทผู้นำของธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย

'นฤมล จิวังกูร' หรือที่แฟนเพลงยุค 90 น่าจะคุ้นเคยกันดีในฐานะ 'โฟร์ท ศิลปินค่าย RS'  ซึ่งมีเพลงดังคุ้นหูมากมาย แต่หลังจากที่เธอผ่านเส้นทางบันเทิงในฐานะนักร้องมาเกือบ 15 ปี  ก็ตัดสินใจพักจากงานร้องเพลงไปเรียนต่อปริญญาโท ซึ่งเป็นรากฐานที่ส่งให้เธอเข้าสู่เวทีโลกการเงินเมื่อราว 27 ปีก่อน ที่ผ่านความท้าทายและโจทย์ต่าง ๆ จนวันนี้ เธอได้โอกาสพิสูจน์ฝีมือบทบาทผู้นำในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย (Citi Country Officer for Thailand) ตั้งแต่เมื่อ 3 พฤษภาคม 2566 

โดยนฤมลร่วมงานกับธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2539 ในตำแหน่ง Management Associates หลังจากจบ MBA Finance จาก California State University, San Bernardino ในรุ่นปี 1996 แล้วได้รับโอกาสให้ทำงานในส่วนธุรกิจ Global Markets (หรือเรียกว่า Treasury/FICC Unit ในอดีต) เธอใช้เวลาช่วงปีแรก ๆ ในการเป็น FX  Trader จากนั้นก็ได้รับโอกาสเข้าร่วมทีม  Corporate Sales and Structuring ในปี 2543 จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการฝ่าย Derivative Sales and Structuring ในปี 2549

จนปี 2550 เธอได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในตัวแทนของทีมงานฝั่งเอเชียแปซิฟิกเข้าร่วมคณะทำงาน 3D ซึ่งมีหน้าที่รายงานตรงต่อ Citi CEO ในส่วนโครงการปรับโครงสร้างองค์กรภายใต้กลุ่มธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ ต่อมาเธอกลายเป็นหัวหน้าฝ่ายขายและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กรในปี 2551 โดยมุ่งเน้นที่พัฒนาโซลูชันทางการเงินแบบครบวงจร สำหรับการบริหารความเสี่ยงซึ่งครอบคลุมสินทรัพย์ทุกประเภท ตราสารหนี้ อัตราดอกเบี้ย สกุลเงิน และสินค้าโภคภัณฑ์ 

หลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์อื่น ๆ นอกเหนือจากฝั่งลูกค้าองค์กร ต่อมาจึงได้เข้าร่วมฝ่ายลูกค้าสถาบันการเงินในตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย Investor sales ในปี 2554 จนถึงปี 2557 ซึ่งความรับผิดชอบหลักคือการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับนักลงทุน เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายทั่วโลกและนำเสนอโซลูชันทางการเงินแบบองค์รวมและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายให้กับสถาบันการเงินในท้องถิ่น

ต่อมาได้รับบทบาทเป็นหัวหน้าฝ่ายธุรกิจ Global Markets และบริการด้านหลักทรัพย์ในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2558 และล่าสุดก่อนรับตำแหน่งปัจจุบัน คือรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานตลาดเงินตลาดทุน ของธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย

นฤมล จิวังกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ประเทศไทย

เส้นทางสู่เวทีโลกการเงิน
นฤมลเล่าย้อนเวลา ก่อนผันตัวเองจากเส้นทางศิลปินมาสู่เวทีโลกการเงินให้ Post Today ฟังว่า หลังเลือกที่จะพักอาชีพนักร้องเพื่อไปเรียนต่อ แรกเริ่มเธอเองไม่ได้มีความตั้งใจที่ศึกษาด้านการเงิน แต่ด้วยความประทับใจที่มีต่ออาจารย์ท่านหนึ่ง จึงตัดสินใจเบนเข็มจากการเรียนด้านการตลาดมาสู่  MBA Finance ที่  California State University, San Bernardino  แทน

ด้วยความที่เราอยู่วงการบันเทิงนี่ขับเคลื่อนด้วยคน ด้วยผู้บริโภค ด้วยคนที่เสพความสุข ทำให้ตอนแรกก็ตั้งใจจะไปเรียนการตลาด แต่พอได้รู้จักอาจารย์ที่สอนด้านไฟแนนซ์ ที่เรารู้สึกประทับใจมาก เลยลองเปลี่ยนมาเรียนสายการเงิน ซึ่งตอนนั้นคุณแม่ก็สนับสนุนมาก เพราะการเงินเป็นรากฐานของทุกธุรกิจ"

สำหรับโอกาสที่ได้เริ่มทำความรู้จักกับอาชีพ banker อย่างเป็นทางการนั้น มาจากที่นฤมลได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ The Citi Management Associate Program หรือ  MA Program ซึ่ง Citigroup เปิดรับเด็กจบใหม่จากทั่วโลก มาทดลองทำงานและหมุนเวียนไปเรียนรู้ในฝ่ายงานต่าง ๆ ของธนาคาร ซึ่งนฤมลเลือกที่จะมาหาประสบการณ์ที่ซิตี้แบงก์ ประเทศไทยเป็นเวลา 2 ปี

ในฐานะ MA batch 96 นฤมลมีโอกาสเรียนรู้งานในหลายฝ่าย แต่สุดท้ายเธอได้รับเลือกให้เริ่มต้นอาชีพ Banker ด้วยการเป็นนักค้าเงินตราต่างประเทศหรือ FX Trader  (Forex Trader) ซึ่งเธอก็ทั้งถูกใจและมีความสุขกับงานนี้มาก เพราะด้วยบรรยากาศการทำงานในห้องค้า ที่เต็มไปด้วยพลังงานและความตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา จึงทำอยู่ถึง 4 ปี ก่อนจะขยับขยายไปยังบทบาทอื่น ๆ เช่น งานด้านการขายและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หลังจากผ่านพ้นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอีกหนึ่งบันไดก้าวสำคัญที่ทำให้เธอมีโอกาสได้รับผิดชอบดูแลลูกค้ากลุ่มองค์กรในเมืองไทยอย่างเต็มตัวในเวลาต่อมา กระทั่งเข้าสู่ความท้าทายครั้งใหญ่คือการเป็นผู้บริหารด้าน  Global Markets และเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานตลาดเงินตลาดทุน ของธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย

นั่นคือตลอด 27 ปีนับจากวันแรกที่เข้ามายังซิตี้แบงก์ ประเทศไทย นฤมลไม่เคยออกนอกรั้วองค์กรแห่งนี้ไปยังบริษัทอื่นใดเลย โดยเธอให้เหตุผลว่า แม้ในวิชาชีพ banker จะมีโอกาสได้พูดคุยหรือได้รับการหยิบยื่นตำแหน่งหน้าที่การงานจากองค์กรอื่น ๆ  มาหลายครั้งก็ตาม

แต่ก็ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่จะตรงกับจุดยืนที่เธอเรียกว่า relationship ของการ give and take นั่นคือเป็นโอกาสหรือตำแหน่งงานที่ทำให้ได้ต่อยอดประสบการณ์ หรือก่อให้เกิดการเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ จากการย้ายงานนั้น ๆ 

เพราะเรายังรู้สึกว่าการเรียนรู้มันไม่มีที่สิ้นสุด ต้องพัฒนาตัวเองในทุก ๆ วัน ก็เลยมองว่า ถ้าย้ายไปทำงานใหม่แล้วไม่เป็นอย่างนั้น สู้อยู่ที่ซิตี้แบงก์ต่อ แล้วได้ทำงานที่ลงลึก ได้ใช้ network และประสบการณ์ที่เรามีอยู่ ให้เป็นประโยชน์กับองค์กรดีกว่า 

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้นฤมลตัดสินใจปักธงเลยว่า เธอจะเลือกทำงานกับซิตี้แบงก์ตลอดไป คือ เมื่อได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินต่างชาติแห่งหนึ่ง ที่บอกกับเธอว่า “Do You know what if Citibank can connect as one no other bank can beat you.” ซึ่งนับว่าเป็นความเห็นที่ทรงพลังและกระตุ้นเตือนให้ยิ่งผูกพันกับการทำงานที่ซิตี้แบงก์มากขึ้น

กระทั่งถึงวันที่ธนาคารเปิดรับผู้ท้าชิงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ เมื่อราวต้นปี 2566 นฤมลจึงตัดสินใจลงสมัครแข่งขัน เพื่อต้องการพิสูจน์และค้นหาตัวเองว่า ด้วยความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมมา จะสามารถต่อยอดได้อย่างไรและจะพาเธอไปได้ไกลอีกแค่ไหน แม้ก่อนนี้ไม่เคยคิดฝันถึงตำแหน่งนี้มาก่อน เช่นเดียวกับไม่ได้มองว่าตัวเองมีความพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อว่าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรได้ หากได้รับเลือกให้มาอยู่ในตำแหน่งนี้

ทั้งนี้ จากการใช้เวลาคัดเลือกอยู่ราว 3 เดือน ผ่านการสัมภาษณ์กับผู้บริหารระดับสูงมากมาย ผ่านการทดสอบหลายด่าน กว่าที่สุดท้ายจะได้รับการแต่งตั้งและเริ่มหน้าที่ผู้นำคนใหม่ของธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

การได้รับตำแหน่งนี้คือการแข่งขันกับ talent จากทั่วโลกของ Citigroup ต้องผ่านการคัดกรองทั้ง IQ และ EQ ผ่านการสัมภาษณ์หลายรอบกับผู้บริหารระดับสูงหลายคน จากแทบทุกหน่วยงานและหลายภูมิภาคด้วย จึงเป็นการคัดเลือกจากการตัดสินใจของหลาย ๆ คน

ผลักดันลูกค้าบริษัทข้ามชาติ

นฤมลเล่าถึงโจทย์สำคัญที่ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ภายใต้การนำของเธอ ที่จะต้องผลักดันมากขึ้นคือการสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจหรือลูกค้าสถาบันที่เป็นบริษัทข้ามชาติ ตั้งแต่ระดับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และองค์กรขนาดใหญ่สามารถขยายธุรกิจและเติบโตในระดับโลกได้มากขึ้น ด้วยกลยุทธ์ที่นำจุดแข็งของธนาคารมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์และสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า ใน 3 ด้านหลัก อันแรกคือ think global สองคือ speak solution และสามคือ deliver one city

สำหรับ  think global คือการใช้ประโยชน์จากเครือข่าย 95 ประเทศของ Citigroup ที่เชื่อมต่อกันทั้งหมด จึงสามารถตอบสนองลูกค้า ทั้งในการลงทุนและการขยายตลาดไปยังประเทศต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะการติดปีกให้กลุ่ม SME สามารถเติบโตในตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ขึ้นกว่าแค่ในไทยได้ เป็นเต้น 

นั่นคือเราต้องเป็น ambassador ที่ดี เสมือนเป็นทูตการค้าที่ดี เป็นตัวแทนหรือเป็นนางงามประเทศไทย ซึ่งออกไปพูดว่า ประเทศไทยเรามีดียังไง ทำไมบริษัท multinational ของคุณต้องเข้ามาลงทุน เช่นเดียวกับที่ต้องพาลูกค้าองค์กรไทยไปหาตลาดใหม่ ๆ 

ในส่วนที่สองคือ speak solution คือการนำเสนอบริการหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดแข็งของธนาคารซิตี้แบงก์ที่แตกต่างจากคู่แข่ง เช่น  Instant Payment platform  ที่เรียกว่า express ซึ่งทำธุรกรรมได้ 5,000 รายการต่อวินาที ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเร็วนี้ ๆ ส่วนที่สามคือ deliver one Citi  คือ การที่เราทำธุรกิจอย่างต่อเนื่องและต่อยอด จนความเป็นซิตี้แบงก์ยั่งยืนจริง ๆ ไม่ใช่เรากำลังจะไปสู่ความยั่งยืน 

นอกจากการขับเคลื่อนธุรกิจให้ไปถึงเป้าหมายแล้ว การพัฒนาศักยภาพและปลุกพลังของ 'คน' หรือทีมงานที่เป็นฟันเฟืองสำคัญขององค์กร ก็เป็นโจทย์ที่นฤมลให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ในฐานะผู้นำด้วยเช่นกัน ทั้งการกระตุ้นให้เพิ่มศักยภาพการทำงานด้วยรูปแบบหรือวิธีการทำงานที่แตกต่างจากเดิม สร้างมุมมองในการทำงานแบบใหม่ รวมถึงการมีระบบวัดผลและให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรมและชัดเจนด้วย

นฤมลยังฝากถึง การรับมือกับปัญหาและแนวทางการบริหารจัดการในแบบของเธออีกว่า เมื่อเวลาที่มีปัญหาที่หนักหนาสาหัสให้ต้องแก้ไข จะมองในแง่บวกว่าเป็นโจทย์ที่สนุกเพื่อกระตุ้นตัวเองและทีมงาน ให้มาร่วมกันคิดหาสาเหตุและทางออกทีจะแก้ปัญหานั้น ๆ  

แต่จุดที่สำคัญยิ่งกว่าคือการต้องรู้จักตั้งข้อสังเกต หรือหาแนวทางป้องกันก่อนปัญหาจะเกิดขึ้นจริง เพราะจะช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลาการทำงานหรือบริหารกิจการไปกับการที่ต้องมาคอยแก้ปัญหา หรืออย่างน้อยก็ช่วยลดเวลาที่จะแก้ปัญหาให้สั้นลงได้

อย่ารอให้ไฟไหม้บ้านแล้วค่อยวิ่งมาดับไฟ หรืออย่ามัวเพลิดเพลินและหลงใหล ต้องตั้งสติให้ดีแล้วคอยสังเกตหรือตั้งข้อสงสัยในเรื่องที่ดูไม่ปกติไว้ก่อน


แม้วันนี้นฤมลจะได้รับบทบาทกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทยอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ตัวเธอมองว่า เป็นเพียงอีกก้าวที่พิสูจน์ว่าเดินมาถูกทางแล้ว แต่ก็เป็นการนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง และยังมีความท้าทายมากมายรออยู่