posttoday

ใครได้ใครเสีย ลาคลอด 180 วัน นโยบายขายฝันสตรีแรงงาน?

08 มิถุนายน 2566

เอกชน โอดแบกไม่ไหว ค่าแรง 450 บาทต่อวัน สู่ เพิ่มสิทธิลาคลอด 180 วัน ฟาดเป็นนโยบายหาเสียงสุดโต่ง ที่สร้างผลกระทบ ทั้งนายจ้าง-ลูกจ้าง ชี้ธุรกิจขนาดเล็กอยู่ยาก-ผู้หญิงหางานลำบากมากขึ้น

นโยบายเพิ่มสิทธิลาคลอด 180 วัน หรือ 6 เดือน ถือเป็นอีกนโยบายขายฝันผู้ใช้แรงงานของพรรคการเมืองไทย จากปัจจุบันสิทธิลาคลอดของไทยอยู่ที่ 98 วัน โดยยังได้เงินเดือนทั้ง 180 วัน จากบริษัท และกองทุนประกันสังคม 

 

นอกจากนี้ ยังขยายสิทธิให้กับแรงงานที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และถูกนำเข้ามาเป็นแรงงานที่ไม่มีผู้ว่าจ้างในระบบประกันสังคมถ้วนหน้า จะได้รับเงินสนับสนุนในการลาคลอด 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 6 เดือน โดยพ่อและแม่สามารถแบ่งวันลาได้ตามความสะดวก หรือใช้สิทธิลาร่วมกัน เช่น แม่ลางาน 5 เดือน พ่อลาอีก 1 เดือน เพื่อช่วยแบ่งเบาการทำหน้าที่และร่วมกันดูแลลูกในช่วง 1 เดือนแรก

 

ปฎิเสธไม่ได้ว่า นโยบายนี้เหมือนสวรรค์ของมนุษย์แม่ที่ตั้งครรภ์ระหว่างทำงาน ที่ออกมาโดยพรรคก้าวไกล โดยระบุว่า เป็นการทำนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลขององค์การอนามัยโลก และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่กำหนดให้บุตรควรได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด
 

 

แต่ในขณะเดียวกันนโยบายนี้ เหมือนเหรียญที่มีสองด้านที่เราต้องเจอ ด้านหนึ่ง เห็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สตรี ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานไทยให้ดีขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยงบประมาณประเทศ แต่อีกด้าน จะเห็นผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ที่จะได้รับผลกระทบ จากปัญหาแรงงานบางส่วนที่หายไป และต้นทุนที่พุ่งพรวด เพราะต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นถึง 2 เด้ง คือ ต้องจ่ายเงินเดือนลูกจ้างเดิม และต้องควักกระเป๋าจ้างแรงงานใหม่ เพื่อมาทดแทนแรงงานเดิมหายไปถึงครึ่งปี 

 

แน่นอน เสียงค้านระงมของนายจ้างดังไปทั่วประเทศ ได้ส่งตรงถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในเวทีหารือร่วมกันระหว่างภาคเอกชน สภาอุตสาหรรมแห่งประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา โดยผู้ประกอบการได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบรอบด้านที่จะเกิดขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งจากนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน และ ลาคลอด 180 วัน ของก้าวไกล ได้อย่างถึงพริกถึงขิง 

 

“เราเคยได้ยิน หากคลอดลูกหัวปี ท้ายปี นั้นหมายถึงว่า พนักงานคนนั้นทำงานกับเราเพียง 3 เดือน แต่เราต้องจ่ายเงินเขาทั้งปี ตรงนี้เป็นสิ่งที่เรากังวลมาก แล้วบอกจะอัพสกิลหรือ รีสกิล มันยิ่งเป็นไปไม่ได้ กับคนงานลาคลอดไปเกือบครึ่งปี แล้วจะมีสกิลกลับมาทำงานยังไง ลองนึกถึงภาพ วิสาหกิจขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี หรือไมโคร ที่มีแรงงานไม่เกิน 5 คน หากมี 1 คนลาคลอดไป เหลือ 4 คน ทั้ง 4 คนก็ต้องแบกรับภาระในงานสำหรับคนงาน 5 คน มันก็ไม่เป็นธรรม” เสียงจากตัวแทนผู้ประกอบการ

 

เช่นเดียวกับความเห็นของ ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ที่ระบุว่า เข้าใจดีถึงความจำเป็นเรื่องลาคลอดของแรงงาน แต่การลางานถึง 180 วัน จะสร้างผลกระทบ ทั้งต่อนายจ้าง และลูกจ้าง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีจำนวนพนักงานไม่มากนัก เมื่อแรงงานหายไปในระบบงาน นายจ้างต้องหาแรงงานใหม่เพื่อทำงานทดแทน ซึ่งหมายถึงต้องจ่ายเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า 

 

“เราเห็นด้วย และเข้าใจถึงความจำเป็น แต่ด้านผู้ประกอบการพนักงานหายไป 6 เดือน ยิ่งบริษัทเล็กๆ คนนึงอาจทำหลายหน้าที่ จึงต้องรีบจ้างคนใหม่มาแทน แล้วต้องจ่ายเงินเดือนให้ทั้งคนลาคลอดและคนใหม่ ก็เท่ากับต้องจ่ายเงินเดือนดับเบิล บริษัทเล็กๆจะอยู่อย่างไร พอครบกำหนดลา กลับมาก็อาจกลายเป็นส่วนเกิน ขณะที่บริษัทก็ไม่สามารถปลดพนักงานออกได้ เพราะกฎหมายไม่ให้ โดยเฉพาะคดีแบบนี้ศาลก็จะเมตตาลูกจ้างเป็นพิเศษ นอกจากจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานแล้ว อาจต้องจ่ายค่าเสียประโยชน์จากเลิกงานอีก ถ้าลูกจ้างฟ้องร้องนายจ้าง”ดร.ธนิตกล่าว

 

ดร.ธนิต ยังระบุด้วยว่า อย่านำ Standard ต่างประเทศมาทำตามมากจนเกินไป เพราะไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา เศรษฐกิจจริงยังไม่ได้แข็งแกร่ง ประเทศยังมีจำนวนผู้มีรายได้น้อยอยู่มาก สะท้อนได้จากจำนวนคนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีมากถึง 14-15 ล้านคน จึงยังมีคนที่ต้องการทำงานอีกมาก แต่นโยบายนี้ เชื่อว่า ต่อไปผู้หญิงจะหางานยากลำบากมากขึ้น ผลจากการให้ลาคลอดได้ถึง 180 วัน 

 

“ถ้ารัฐบาลใหม่ยังเดินหน้าตามนโยบาย และมีการออกเป็นกฎหมาย ต่อไปการรับพนักงานผู้หญิงก็จะยากขึ้น ผู้หญิงก็จะหางานลำบากขึ้น ไม่จำเป็นก็จะไม่รับ และนายจ้างเองก็ไม่สามารถทำสัญญาห้ามคลอด หรือห้ามตั้งท้องได้ เช่น ห้ามท้อง 2 ปีขณะทำงาน เพราะเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างแพ้คดีกันมาเยอะแล้ว ดังนั้นอะไรที่มันสุดโต่งเกินไปมันก็ไม่ดี” ดร.ธนิตกล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของ นายสมชาย พรรัตนเจริญ อดีตนายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ยอมรับว่า ลาคลอดเกือบ 6 เดือน ถือว่าเป็นจำนวนวันลาที่มากเกินไป กังวลว่าจะทำให้ผู้ประกอบการรับไม่ไหว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีจำนวนแรงงานไม่มาก และมีสายป่านสั้น 

 

“ถ้ากฎหมายออกมาแบบนั้น นายจ้างคงคิดหนัก นโยบายนี้ใช้ได้เฉพาะกับบางองค์กร รายเล็กรับไม่ไหว เราไม่สามารถเทียบกับต่างประเทศได้ อย่าลืมว่าเศรษฐกิจไม่ได้เติบโตเหมือนกัน ถ้าให้วันลา 180 วัน ผู้ประกอบการคงจะพิจารณาการจะรับผู้ผญิงเข้ามาทำงานมากขึ้น ไม่เหมือนงานราชการ ขณะที่ทุกวันนี้ก็มีการพูดคุยกันแล้ว ถ้าให้ใช้สิทธิการลาขนาดนี้จะไหวหรอ หยุดที 6 เดือน ตำแหน่งงานที่หายไปจะให้ใครมาทำแทน การจ่ายค่าแรงก็ต้องดับเบิล” นายสมชายกล่าว

 

นอกจากนี้มองว่า นโยบายดังกล่าว จะกลายเป็นการสร้างความเข้มงวด ทำให้ผู้หญิงวัยทำงานไม่อยากต้องท้องหรือไม่ จึงอยากเสนอให้ปรับเพิ่มวันลาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น เดียวกับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน เพราะเข้าใจดีว่า แรงงานไทยบางส่วน อาจถูกกดค่าแรงจากบริษัทรายใหญ่ ดังนั้นหากจะขยับขึ้นบ้างก็ไม่ขัด แต่ต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ รอบด้านทั้งผลดี และผลเสียที่อาจเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง

 

 “มีโอกาสที่ผู้ประกอบการ จ้างผู้หญิงออกจากงาน ถ้าลูกจ้างยังสาวอยู่ ยังไม่เคยตั้งท้อง หรืออาจจะไม่ได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ เพราะไม่อยากรับภาระ ผู้หญิงจะหางานยากขึ้น ทุกวันนี้นายจ้างก็พิจารณาในการรับผู้หญิงเข้ามาทำงานมากขึ้นอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้หญิงที่ตั้งท้องจะไม่รับเข้าทำงาน ต้องวัย 30 กว่าขึ้นไป หรือทำหมันแล้ว ถึงจะรับเข้าทำงาน”นายสมชายกล่าว 

 

นายสมชาย ยังฝากข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลใหม่ ให้ออกมาตรการเพื่อเอื้อการทำธุรกิจของรายเล็ก เช่น มาตรการโครงสร้างภาษี  ลดเงื่อนไขทางการทำบัญชี จากเดิมที่ต้องจ้างคนทำบัญชีที่มีราคาแพง หรือ ลดขั้นตอนต่างๆ ให้ง่าย เพื่อลดความยุ่งยากในการยื่นภาษีในปัจจุบัน  เช่นเดียวกับที่มีมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้กับนักลงทุนรายใหญ่ และต่างประเทศ

 

ทั้งนี้ เมื่อเทียบสิทธิลาคลอดในต่างประเทศ 62 ประเทศทั่วโลก พบว่า ส่วนใหญ่จะกำหนดให้ผู้หญิงทำงานลาคลอดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 สัปดาห์ หรือประมาณกว่า 3 เดือน แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่กำหนดวันลาคลอดแตกต่างกันไป

 

ใครได้ใครเสีย ลาคลอด 180 วัน นโยบายขายฝันสตรีแรงงาน?

ใครได้ใครเสีย ลาคลอด 180 วัน นโยบายขายฝันสตรีแรงงาน?