posttoday

เอกชน กังวลเฟดขึ้น "ดอกเบี้ย" จุดชนวนเศรษฐกิจถดถอย

05 มิถุนายน 2566

สภาหอการค้าฯ กังวลเฟด ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง กระทบตลาดเงิน-ตลาดทุนโลก ขณะที่ส่งออกไทยสะดุด หลังสหรัฐฯคุมค่าใช้จ่ายลดกำลังซื้อสินค้าคงทน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  เปิดเผยถึงกรณีที่วุฒิสภาผ่านร่างกฏหมายการขยายเพดานหนี้สหรัฐว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐเป็นปัญหามีมาหลายปีแล้ว บางครั้งที่รัฐบาลสหรัฐเกือบต้องชัตดาวน์ ครั้งนี้ก็เช่นกัน แต่เมื่อร่างกฎหมายฯผ่านก็เปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถกู้เงินได้ และดูว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อหรือไม่

 

สำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดจต้องดูว่า จะขึ้นต่อหรือไม่ หากขึ้นอีกครั้งในกา่รประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้  จะกระทบต่อตลาดการเงิน ตลาดทุนและเศรษฐกิจโลก ซึ่งที่ผ่านมาเฟดก็เริ่มผ่อนคลายเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ตลาดการเงิน ตลาดทุน คลายความกังวลไปได้มาก และเริ่มมีการซื้อขายในตลาดมากขึ้น 

 

" การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคสหรัฐลดลง  และสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน  ขณะที่สินค้าคงทนชะลอการซื้อออกไปก่อน เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาในช่วงโควิด ไทยส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบไปสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันลดลงเห็นได้จากตัวเลขส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐเดือนเม.ย.ลดลง คาดว่าเดือนพ.ค.ก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน " 
 

 

นางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมได้ติดตามปัญหาวิกฤตเพดานหนี้สาธารณะสหรัฐฯที่อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย  เมื่อวุฒิสภาผ่านความเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ยังต้องมีการพ่วงข้อเสนอให้รัฐบาลสหรัฐลดการใช้จ่ายในช่วง10ปี ข้างหน้า ปัจจุบัน สหรัฐฯ ยังมีหนี้และดอกเบี้ยที่สูงมากกว่าปี 2011นอกจากนี้ การผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ จะเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เพราะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบันถูกยกให้มีสถานะเป็นRisk-free Asset หรือสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยง

 

อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯ จำเป็นต้องผิดชำระหนี้จริงแม้แต่วันเดียว ผลกระทบจะมีความรุนแรงมากในหลายมิติทั้งการชะลอตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อตลาดเงิน และตลาดทุนทั่วโลก และจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 นอกจากนี้ อาจส่งผลให้สถานะของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอาจเปลี่ยนไป รวมทั้ง การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเรทติ้งของสหรัฐ

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการส่งออกไทยไปสหรัฐฯเดือนเม.ย. มูลค่า 3,230 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 9.6 %  หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอจตัวลง และความไม่แน่นอนจากปัญหาภายใน ซึ่งสหรัฐถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย หากสหรัฐมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ   เงินเฟ้อ  ดอกเบี้ยสูงจะฉุดกำลังซื้อภายในประเทศทำให้การส่งออกของไทยลดลงแน่นอน