posttoday

ส่งออกไทยเดือนเม.ย.ติดลบ 7.6% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

30 พฤษภาคม 2566

กีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยส่งออกไทยเดือนเม.ย. 66 ยังหดตัวต่อเนื่อง ติดลบ 7.6% เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ขณะที่นำเข้าติดลบ 7.3% ส่งผลให้ 4 เดือนแรกของปีนี้ ส่งออกไทยติดลบ 5.2% ฉุดดุลการค้าติดลบ 4,516 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังคงเป้าทั้งปี โต 1-2 %

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการส่งออกไทยในเดือนเม.ย.2565 ว่า การส่งออกในเดือนนี้ยังคงติดลบ 7.6% หรือมีมูลค่า 21,723 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ส่วนการนำเข้าติดลบ 7.3% มูลค่า 23,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดุลการค้าติดลบ 1,471 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้การส่งออก 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ส่งออกไทยโตติดลบ 5.2% หรือมีมูลค่า 92,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้าติดลบ 2.2% มูลค่า 96,519 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าไทยติดลบ 4,516 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
 
ทั้งนี้การที่ส่งออกไทยติดลบต่อเนื่องจากกลุ่มอุตสหกรรม และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงตามความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาพลังงาน และมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกกดดันอุปสงค์ด้านการส่งออก หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียยังคงเผชิญกับการส่งออกที่ชะลอตัว แม้ว่าปัจจัยด้านเงินเฟ้อจะชะลอลง แต่ความเปราะบางของภาคธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป กดดันให้เศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น


“ การส่งออกเดือนเม.ย.ที่ติดลบ 7.6% ส่วนหนึ่งมาจากฐานปีที่แล้วที่สูงมาก ส่วนการส่งออกในเดือนต่อไปคาดว่า น่าจะยังคงติดลบอยู่จากสต๊อกสินค้าของประเทศคู่ค้ายังมีอยู่ทำให้ชะลอการสั่งซื้อสินค้า  อย่างไรก็ตาม กระทรวงยังคงเป้าการส่งออกทั้งปีขยายตัว 1-2 % “นายกีรติ กล่าว
 

 

อย่างไก็ตาม ตรงข้ามกับสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี โดยการส่งออกผลไม้ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงข้าว ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกไปยังตลาดเป้าหมายขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะตลาดจีนที่เป็นตลาดส่งออกอันดับสองของไทยกลับมาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 23 


สำหรับแนวโน้มการส่งออกในระยะต่อไป กระทรวงพาณิชย์ คาดว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้หลายประเทศยังคงใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มงวด ขณะที่มีความเสี่ยงจากปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ปัญหาวิกฤตการเงินของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ และยุโรป และปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ การฟื้นตัวของตลาดจีนที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เป็นสัญญาณบวกต่อการส่งออกไทย ขณะที่ปัญหาความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นในหลายประเทศที่ประสบปัญหาภัยแล้งจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปีนี้