posttoday

3 ปัจจัยหนุนค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค.66 ลดเหลือ 4 บาทต่อหน่วย

27 พฤษภาคม 2566

กระทรวงพลังงาน เผย 3 ปัจจัย หนุนค่าไฟฟ้าเอฟที งวดที่ 3 เดือน ก.ย.-ธ.ค.66 ลดลง 70 สตางค์ เหลือ 4 บาทต่อหน่วย หวังรัฐบาลใหม่เร่งแผน PDP เปลี่ยนผ่านพลังงานแห่งอนาคต

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ค่าไฟฟ้าเอฟที งวดที่ 3 ปี 2566 (กันยายน-ธันวาคม) คาดว่าจะสามารถทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ถึง 70 สตางค์ต่อหน่วย โดยมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย 

1. สถานการณ์ราคาพลังงานตลาดโลกเริ่มคลี่คลายลง ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยราคาตลาดจร (SPOT LNG) อยู่ที่ประมาณ 9-10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เมื่อต้นทุนต่ำลงจะส่งผลรวมถึงการปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที)

2. การเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ PTTEP รายงานว่า อยู่ระหว่างเพิ่มกำลังผลิตแหล่ง G1/61 (เอราวัณ) เป็น 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือน ก.ย.นี้ และต้นปี 2567 จะเพิ่มกำลังผลิตให้ได้เป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งราคาก๊าซในอ่าวไทยจะอยู่ที่ระดับ 5-6 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู  

ทั้งนี้ เมื่อกำลังผลิตก๊าซในอ่าวไทยเพิ่มมากขึ้น การนำเข้าก๊าซ LNG คาดว่าจะลดลงจากที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT คาดการณ์ไว้ว่าจะขอนำเข้า 99 ลำ เหลือประมาณ 70 ลำ (ลำละ 60,000 ตัน) จะช่วยให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้อีก ดังนั้นนโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้ว่าจะลดค่าไฟฟ้านั้น หากดูตัวเลขสามารถทำได้แน่นอน ลดได้อย่างน้อย 50 สตางค์ต่อหน่วย เพราะต้นทุนก๊าซฯ โดยรวมถูกลง

และ 3. PTT สามารถซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ได้ในราคาระดับ 9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งจาก 3 ปัจจัยหลักดังกล่าว จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ 70 สตางค์ต่อหน่วย จากราคาค่าไฟฟ้างวดปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย มาอยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วยทันที ในงวดสิ้นปี 2566 

ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองเสนอให้เจรจากับภาคเอกชนเรื่องการปรับลดค่าความพร้อมจ่าย (AP) เป็นสิ่งที่สามารถเจรจาได้ แต่ต้องใช้เวลาและความพยายามพอสมควร ซึ่งต้นทุนค่า AP อยู่ในส่วนของต้นทุนค่าไฟฐาน มีการใช้มาตั้งแต่ปี 2537 คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น ไม่มากเท่ากับต้นทุน LNG ดังนั้น หากบริหารจัดการ LNG ดี จะสามารถลดลงได้ 50-60 สตางค์อยู่แล้ว

สำหรับทิศทางพลังงานโลกกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด จึงควรให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างการตลาดพลังงานให้สมดุลและสอดรับกัน หรือพัฒนาเพื่อตอบรับความต้องการต่างๆ กระทรวงพลังงาน จึงต้องเตรียมแผนรองรับนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลใหม่ นอกจากเรื่องค่าไฟฟ้า ยังมีเรื่องของพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ที่รัฐจะเดินหน้าส่งเสริมต่อหรือไม่ เช่น มาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป (Net Metering) จะเป็นอย่างไร โรงไฟฟ้าชุมชนจะส่งเสริมต่อหรือไม่ 

"ทางกระทรวงฯ จะติดตามและเตรียมทำข้อมูลว่าจะมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขได้อย่างไรบ้าง รวมถึงการปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) จะสามารถทำได้ขนาดไหน ต้องจึงรอฟังนโยบายจากรัฐบาลใหม่ และมีการวางแผนร่วมกันเพื่อนำไปแถลงในรัฐสภา" นายกุลิศ กล่าว