posttoday

"งบฐานศูนย์" ก้าวไกลวางกล ฉีกกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

23 พฤษภาคม 2566

นักวิชาการ ชี้ ก้าวไกล รื้อโครงสร้างงบประมาณใหม่ หันใช้ Zero-Based Budgeting เป็นการทำงบฯแบบใหม่ ที่ไม่ต้องเดินตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เชื่อทำได้แต่ไม่ง่าย เพราะ เจ้าหน้าที่ไม่คุ้นเคย คาดปี 68 ถึงดำเนินการได้

หลังจากที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 นำ 8 พรรคการเมือง ลงนาม MOU จำนวน 23 วาระ และ 5 แนวทาง เพื่อจัดตั้งรัฐบาล 313 เสียงเมื่อวานนี้(22พ.ค.) จะพบว่า ข้อ 11 หนึ่งใน MOU ของพรรคก้าวไกล ได้ระบุถึงการจัดทำงบประมาณใหม่ (ฐานศูนย์) Zero-Based Budgeting(ZBB) ซึ่งแนวการจัดทำงบแบบ ZBB คืออะไร แตกต่างจากการจัดทำงบประมาณที่ใช้อยู่ในปัจจุบันตรงไหน ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ได้อธิบายไว้ ดังนี้

 

สำหรับ แนวการจัดทำงบประมาณ แบบZBB อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เป็นการพิจารณางบประมาณที่เริ่มจากฐานศูนย์ ซึ่งแตกต่างไปจากวิธีที่ปัจจุบันที่รัฐบาลใช้อยู่ เป็นการบริหารแบบวางกลยุทธ์ ที่ให้สอดคล้องไปกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี เช่น เดียวกับ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ที่มีแผนการปฎิบัติตามระยะ 5 ปี ที่ต้องทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และกระทรวงต่างๆ ก็ล้อแผนไปตามแผนของสศช. โดยจะนำงบประมาณจากปีที่ผ่านมาใช้เป็นฐานอ้างอิง ที่จะกำหนดงบประมาณว่าจะอยู่ที่จำนวนเท่าไหร  จะเพิ่มขึ้น หรือลด งบประมาณในปีงบประมาณอย่างไร เพื่อนำมาเป็นแผนงบประมาณในระยะสั้น กลาง และแผนระยาว ต่อไป 
 

 

ขณะที่ การจัดงบประมาณแบบ ZBB ถือเป็นวิธีการจัดทำงบประมาณรูปแบบใหม่ ที่ไทยไม่เคยใช้มาก่อน โดยจะทำงบประมาณให้สอดคล้องกับตัวนโยบายที่หาเสียงไว้ รวมถึงให้สอดคล้องกับทิศทางนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย หลังจากนั้นจะตั้งตุ๊กตา เช่น ตั้งงบกระทรวงกลาโหม ว่าควรจะอยู่ที่เท่าไร โดยไม่เอางบฐานในอดีตมาอ้างอิงในการจัดทำงบประมาณเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเริ่มต้นจากศูนย์ โดยประเมินจากรายได้รัฐ จีดีพีประเทศในปีหน้า จากนั้นจะวางตัวเลขงบประมาณว่าจะอยู่ที่เท่าใด และจะยอมให้มีการขาดดุลงบประมาณหรือไม่ เท่าใด แต่ต้องเป็นไปตามการถ่วงน้ำหนัก ความจำเป็นก่อนหลัง หรือเน้นตรงส่วนไหนเป็นสำคัญ 

 

“ที่ผ่านมาไทยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดทำงบประมาณมาหลายครั้งแล้ว Zero-Based Budgeting ถือว่า เป็นการทำงบประมาณอีกรูปแบบหนึ่ง ยกตัวอย่าง เช่น ผมจะเริ่มจากจัดงบใหม่ในบริษัท โดยจะไม่ดูงบปีที่แล้ว ว่าอยู่ที่เท่าไร แต่จะเริ่มคิดใหม่จากศูนย์เลย ว่าอะไรจำเป็น แต่รูปแบบนี้จะทำยากหน่อย เนื่องจากเป็นการเริ่มต้นใหม่ เจ้าหน้าที่กระทรวง ทบวง กรม จะไม่คุ้นเคยในรูปแบบนี้ แต่ก็สามารถทำได้ เพราะเคยมีอยู่ในตำราอยู่แล้ว ”

 

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าทั้งสองรูปแบบ หลักการจะเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง หัวใจสำคัญคือ ทุกรัฐบาลต้องมีการประเมินรายได้ในปี 2567 ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกที่เป็นอยู่ โดยประเมินว่า รัฐจะสามารถเก็บภาษีได้เท่าใด ตามมาด้วยรายจ่ายที่เริ่มต้นใหม่ และจะขาดดุลลงบประมาณหรือไม่ และจำนวนจะอยู่ที่เท่าไร ซึ่งจะเหมืนกัน และที่สำคัญการกำหนดกรอบงบประมาณทั้งหมดต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย และรัฐธรรมนูญด้วย เพราะในรัฐธรรมนูญได้มีการกำหนดกรอบงบประมาณต่างๆไว้แล้ว เช่น การก่อหนี้ต้องไม่เกิน 20% ของรายจ่ายประจำปีทั้งหมด ก่อหนี้ต่างประเทศต้องไม่เกิน 10% หรือ ก่อหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 70% ของจีดีพี เป็นต้น 

 

“แม้พรรคก้าวไกล อาจไม่เห็นด้วยกับการทำงบประมาณแบบเดิม ที่ต้องทำงบฯให้สอดคล้องกับยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี แต่การทำงบประมาณ หรือ การก่อหนี้ ก็ต้องอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ กรอบที่กฎหมายกำหนด แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนตัวเลขต่างๆใหม่ โดยไม่ต้องไปคำนึงแผนยุทธศาตร์แล้ว แต่จะเน้นการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง และต้องคำนึกถึงกรอบเสถียรภาพการเงิน และการคลังด้วย” 

 

พร้อมกันนี้ ดร.สมชาย เชื่อว่า การจัดทำรูปงบประมาณรูปแบบใหม่ จะเริ่มทำได้ในปี 2568 เนื่องจากเป็นการรื้อโครงสร้างบประมาณเพื่อทำระบบใหม่ จึงต้องใช้เวลา และไม่สามารถให้เสร็จได้ภายในปีนี้ หรือปี 2567 ได้ นอกจากนี้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ยังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน ซึ่งส่งผลให้การจัดทำงบประมาณในขณะนี้ต้องล่าช้าออกไปด้วยเช่นกัน