posttoday

ดีป้า จับมือ ส.อ.ท. ตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการดิจิทัลไทยสู่สากล 94 ราย

12 พฤษภาคม 2566

ดีป้า ร่วมกับ ส.อ.ท. เดินหน้ายกระดับศักยภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศให้มีความพร้อมและได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 29110 ก่อนต่อยอดสู่การขึ้นทะเบียน 'บัญชีบริการดิจิทัล' เพื่อเปิดประตูสู่ตลาดภาครัฐ และรับการแข่งขันในตลาดสากล

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ภารกิจสำคัญของ ดีป้า คือการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในทุกมิติ ทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตประจำวัน

ดังนั้นมาตรฐานของเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญ และยังเป็นเครื่องหมายการันตีถึงประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความคุ้มค่า อีกทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความน่าเชื่อถือต่อผู้พัฒนาหรือผู้ให้บริการดิจิทัล (Digital Provider) ดีป้า จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนามาตรฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานระดับสากล

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุน ดีป้า มีมติเห็นชอบโครงการดำเนินงานเพื่อขอรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 29110 ให้กับผู้ประกอบการ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผ่านมาตรการคูปองดิจิทัล เพื่อการรับรองมาตรฐานด้านดิจิทัล

โดยโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการดิจิทัลไทยให้มีความพร้อมผ่านการฝึกอบรมและวิเคราะห์กระบวนการทำงาน พร้อมรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงมีการจัดหาหน่วยรับรองคุณภาพเพื่อประเมินผลและออกใบรับรองตามมาตรฐานสากลด้านกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ ISO/IEC 29110 แก่เหล่าผู้ประกอบการ ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดจะเป็นไปในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตั้งเป้ามีผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการฯ ไม่น้อยกว่า 94 รายทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ดีป้า พร้อมบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานพันธมิตรอย่างเข้มแข็ง ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างผู้ประกอบการคุณภาพในอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยให้มีความพร้อมและได้รับการรับรองมาตรฐานสากลอย่าง ISO/IEC 29110

ก่อนต่อยอดไปสู่การขึ้นทะเบียน 'บัญชีบริการดิจิทัล' หนึ่งในกลไกยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลสามารถเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความขีดความสามารถทางการแข่งขันในระดับสากล ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทยต่อไป