posttoday

สรท. คาดการณ์การส่งออกรวมทั้งปี 66 เติบโตระหว่าง 0-1%

02 พฤษภาคม 2566

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เผย ส่งออกไทยไตรมาสแรก ปี 2566 (มกราคม – มีนาคม) รวมมูลค่า 70,280.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 2,373,189 ล้านบาท หดตัว 1.1%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) สภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนมีนาคม 2566 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 27,654.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 4.2% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 942,939 ล้านบาท ขยายตัว 2.2% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนมีนาคมขยายตัว 0.01%) 

ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 24,935.5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 7.1% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 860,535 ล้านบาท หดตัว 1.0% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2566 เกินดุลเท่ากับ 2,718.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 82,403 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – มีนาคมของปี 2566 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 70,280.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 2,373,189 ล้านบาท หดตัว 1.1% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม - มีนาคม หดตัว 0.9%) 

ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 73,324.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 0.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 2,508,390 ล้านบาท ขยายตัว 2.9% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม - มีนาคม 2566 ขาดดุลเท่ากับ 3,044.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 135,201 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกรวมทั้งปี 2566 เติบโตระหว่าง 0-1% โดยมีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2566 ได้แก่ 1.เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลต่อทุกภาคส่วน อาทิ ภาคการเงิน การผลิต การส่งออก วัตถุดิบและพลังงาน 

2.ต้นทุนการผลิตยังคงสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และพลังงาน ซึ่งยังมีความผันผวนและส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน 3.ปริมาณสินค้าคงคลังในประเทศคู่ค้ายังคงปริมาณสูง ส่งผลให้ความต้องการลดลง 4.ปัญหาสภาพอากาศที่ร้อนจัดทั่วโลก ส่งผลต่อการผลิตในภาคการเกษตร ผลผลิตออกไม่ตรงตามฤดูกาล

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ ขอให้ภาครัฐบริหารจัดการการปรับค่าพลังงาน (ค่าไฟฟ้า FT) อย่างเหมาะสม เพื่อลดผลกระทบต่อต้นทุนของภาคการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นและเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อคู่ค้าคู่แข่งที่สำคัญ และอยากให้รัฐบาลที่กำลังจะเข้ามาทำหน้าที่ชุดใหม่นี้เดินหน้าและสนับสนุนภาคการส่งออกให้มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง