posttoday

สนพ.ย้ำค่าไฟแพงไม่เกี่ยวข้องกับการสำรองไฟ

28 เมษายน 2566

สนพ.เปิดความจริงต้นเหตุค่าไฟแพง ไม่ได้วิ่งตามกำลังการผลิตสำรอง และประเทศไทยมีการสำรองไฟเพียง 36% ย้ำต้นเหตุที่แท้จริงเกิดจากวิกฤตเชื้อเพลิง LNG ในภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ต้นทุนค่าไฟ 50-60% มาจากเชื้อเพลิง รองลงมาคือ ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ,ต้นทุนระบบส่งไฟฟ้า และต้นทุนขายปลีกและจำหน่าย เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุหลักที่ค่าไฟแพงขึ้น ไม่เกี่ยวกับการสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin : RM) ของประเทศ

โดยที่ผ่านมาการเปลี่ยนผ่านสัมปทานมีผลต่อกำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทย แหล่งเอราวัณที่มีราคาต้นทุนถูก หายไปจากสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเหลือที่ระดับ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ประกอบกับจังหวะช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (Spot LNG) จากสมัยก่อน 5 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู กระโดดมาถึง 50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งปัจจุบันลดลงมาอยู่ระดับ 12-13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

ดังนั้นในช่วงที่ก๊าซในอ่าวไทยหายไปถึง 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จึงต้องนำเข้า LNG จากเป้าเดิม 300 ล้านลูกบาศก์ฟุต เป็น 900 ล้านลูกบาศก์ฟุต จึงส่งผลกระทบมาถึงค่าไฟเพราะต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น อีกวิธีบริหารเพื่อลดต้นทุนคือปรับสูตรการคำนวณราคา (Pool GAS) โดยใช้เชื้อเพลิงอื่น ทั้ง ดีเซล และน้ำมันเตา มาผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ราคา LNG แพงซึ่งจากการบริหารจัดการ เดือนม.ค.-ธ.ค. 2565 ลดได้เกือบ 40 สตางค์ต่อหน่วย เป็นมูลค่าเกือบ 8 หมื่นล้านบาท

อีกทั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังรับภาระค่าเอฟทีให้ชั่วคราว 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นค่าไฟประมาณ 75 สตางค์ต่อหน่วย รวมถึงใช้งบกลาง 10,725 ล้านบาท ช่วยเหลือ 22 ล้านครัวเรือน 

นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า ช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. 2566 ค่าไฟอาจแพงที่สุด ที่มาจากราคาก๊าซฯ ที่ดีเลย์ แต่จะค่อย ๆ ลดลง จากปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยเพิ่มเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนส.ค. 2566 และเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันปลายปีนี้ บวกกับราคา LNG นำเข้าที่ถูกลงจากสมมุติฐานที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คำนวณจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำเข้าในราคาที่เหมาะสม ซึ่งหากราคาที่สมมุติฐานถูกกว่าก็จะนำไปลดค่าเอฟทีงวดถัดไป 

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟแพงคือค่าเงินบาทจะเห็นว่าก่อนหน้านี้ ที่ค่าไฟถูกค่าเงินอยู่ระดับ 30-31 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อคูณเข้าไปจึงค่อนข้างสูง จริง ๆ อาจจะลดได้บางส่วน แต่ที่กฟผ. แบกรับก็ต้องทยอยคืนตอนนี้เหลือ 6 งวด งวดละประมาณ 20,000 ล้านบาท จึงอาจทำให้ค่าไฟบางส่วนที่ยังสูงอยู่ เพื่อให้กฟผ. มีสภาพคล่องและดำเนินธุรกิจต่อไปได้
 

สนพ.ย้ำค่าไฟแพงไม่เกี่ยวข้องกับการสำรองไฟ

อย่างไรก็ตาม ในการคำนวณราคาก๊าซฯ ในอ่าวไทยบวกกับสัญญาLNG ระยะยาว 5.2 ล้านตัน ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 230-250 บาทต่อล้านบีทียู แต่ในช่วงที่วิกฤตราคาน้ำมันและก๊าซฯ สูงขึ้นมาก เชื้อเพลิงที่มีการ Pool GAS ของปี 2565 กระโดดไปที่ 450 บาทต่อล้านบีทียู จึงมีผลต่อราคาค่าไฟ ถือเป็นวิกฤตพลังงานทั่วโลก ซึ่งมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนด้วย

ดังนั้น จะเห็นว่าประเทศต่างๆ ในปี 2565 ค่าไฟสูงขึ้นจากปี 2564 อย่างเห็นได้ชัด เช่น อิตาลี ค่าไฟเฉลี่ยจาก 7.03 บาท เป็น 20.27 บาท เพิ่มขึ้น 188%, สวีเดน จาก 4.94 บาท เป็น 12.71 บาท เพิ่มขึ้น 157%, สเปน จาก 6.98 บาท เป็น 13.02 บาท เพิ่มขึ้น 87%, สิงคโปร์ 6.84 บาท เป็น 8.40 บาท เพิ่มขึ้น 23% ส่วนประเทศไทยจาก 3.60 บาท เป็น 4.72 บาท เพิ่มขึ้น 19%

สนพ.ย้ำค่าไฟแพงไม่เกี่ยวข้องกับการสำรองไฟ

ต่อประเด็นเรื่องการสำรองไฟฟ้านั้น นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีกำลังการผลิตตามสัญญาอยู่ที่ 52,566 เมกะวัตต์ แต่จะคิดกำลังผลิตที่พึ่งพิงได้ที่ 45,225 เมกะวัตต์ หากเทียบเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ปี 2565 ที่ 33,177 เมกะวัตต์ ดังนั้น ในช่วงนี้ที่มีการระบุว่าการสำรองไฟถึง 50-60% จึงไม่ถูกต้อง

หากดูสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558-2565 จะพบว่า กำลังการผลิตสำรองไฟฟ้ากับค่าไฟฟ้าไม่มีความสัมพันธ์กัน ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2558 มีการสำรองไฟ 29% ค่าไฟอยู่ที่ 3.86 บาทต่อหน่วย,ปี 2564 การสำรองไฟอยู่ที่ 41% ค่าไฟอยู่ที่ 3.60 บาทต่อหน่วย และ ในปี 2565 การสำรองไฟอยู่ที่ 36% ค่าไฟอยู่ที่ 4.69 บาทต่อหน่วย 

สนพ.ย้ำค่าไฟแพงไม่เกี่ยวข้องกับการสำรองไฟ

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศไทยมีวาระในการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ต้องยอมรับว่าการสำรองไฟจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งจากข้อมูลทั่วโลกในปี 2559 พบว่า ประเทศที่มีพลังงานหมุนเวียนมาก จะต้องมีการสำรองไฟเยอะขึ้น เพราะพลังงานดังกล่าวยังไม่เสถียร  เช่น เสปนมี RM ที่ 180% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 51.1%, อิตาลี RM 136% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 44.8%, โปรตุเกส RM 130% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 64.1%, เดนมาร์ก RM 130% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 52.1%, เยอรมัน RM 111% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 50.2%, จีน RM 91% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 33.1%, มาเลเซีย RM 51% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 25.7% ส่วนไทย RM 39% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 21.8% เป็นต้น

สนพ.ย้ำค่าไฟแพงไม่เกี่ยวข้องกับการสำรองไฟ