posttoday

ส่งออกเดือนมี.ค.หดตัว 4.2% มูลค่ากลับมาสูงสุดในรอบ 12 เดือน

26 เมษายน 2566

กระทรวงพาณิชย์เผย การส่งออกเดือนมี.ค.ลดลง 4.2% แม้ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แต่มูลค่าการส่งออกกลับสูงสุดในรอบ 12 เดือน พลิกกลับมาเกินดุลในรอบ 12 เดือนแรก

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง ภาวะการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 66 ว่า มีมูลค่า 27,654.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาท 942,939 ล้านบาท ลดลง 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงเมื่อกับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่การส่งออกหดตัวอยู่ที่ 4.7% ถือเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ตั้งแต่ตุลาคม 65 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 24,935 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.1% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 2,718 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการกลับมาเกินดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน

 

“โดยการส่งออกเดือนนี้ หดตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ แต่หากดูมูลค่าการส่งออก สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี และมีมูลค่าที่ระดับ 27,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดในรอบ 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ถือว่าสูงมาก เป็นรองจากเดือนมี.ค.65 ที่การส่งออกอยู่ที่ 28,000 ล้านดอลลาร์ และไม่ได้ติดลบไปถึง 2 Digit ตามที่หลายสำนักคาดไว้  มูลค่าการส่งออกที่สูงขึ้นเป็นเพราะสินค้าผลไม้ส่งไปจีนเพิ่มขึ้น สินค้าอุตสาหกรรมบางรายการเริ่มฟื้นตัว นอกกนี้ยังกลับมาเกินดุลในรอบ 12 เดือนแรก”

แต่การส่งออกของไทยในเดือนนี้ หากเทียบกับหลายประเทศก็ถือว่า การส่งออกไทยยังดี โดยญี่ปุ่น ส่งออก หดตัว 8.0% เกาหลีใต้  หดตัว 12.6% สิงคโปร์ หดตัว 5.1% ไต้หวัน หดตัว 19.2% เวียดนาม หดตัว 11.7% เป็นตัน  ซึ่งถือว่าการส่งออกไทยเดือนนี้ดีกว่าหลายประเทศ แต่ก็ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงอย่าง เศรษฐกิจคู่ค้า  สถาบันการเงิน ขณะที่ ค่าเงินถือว่าอยู่ในปัจจัยที่เอกชนรับได้ 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทั้งปี 2566 ยังคาดว่าส่งออกโต 1-2%

 

ทั้งนี้ หากแบ่งเป็นรายภาค พบว่า สินค้าเกษตรขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง มีมูลค่า 2,193.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 74,799 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2% ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง และแห้ง ขยายตัว 94.5% มีมูลค่า 367 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่อง โดยมีตลาดที่สำคัญ ได้แก่ จีน ฮ่องกง สหรัฐ สหรัฐเอาหรับเอมิเรตส์ และอินโดนีเซีย

 

ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัว 47.9% พบว่าขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 มีมูลค่า 114.7 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดที่สำคัญ ได้แก่  จีน เกาหลีใต้ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย

 

ข้าว ขยายตัว 7.2% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มีมูลค่าส่งออก 371.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดที่สำคัญ คือ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย 

 

และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 5.7% ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง มีมูลค่า 459.7 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดที่สำคัญได้แต่ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐ และฮ่องกง

 

ขณะที่ภาพรวมรายไตรมาสแรกของปี 66 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 0.2% มีมูลค่า 5,891.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่นเดียวกับ สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ที่ขยายเพิ่มขึ้น 7.1% มีมูลค่า 2,332.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ คิดเป็นเงินบาทอยู่ที่ 79,534 ล้านบาท ไตรมาสแรก เพิ่มขึ้น 3.7% มีมูลค่าอยู่ที่ 5,942.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วน สินค้าอุตสาหกรรม พบว่า หดตัว 6 เดือนต่อเนื่อง โดยมีมูลค่า 22,236.4 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทที่ 758.200 ล้านบาท หรือลดลง 5.8%

   
ตลาดที่ขยายตัวได้ดี 10 อันดับแรก ในเดือนมีนาคม 2566 อันดับที่ 1 ได้แก่ รัสเซีย เพิ่มขึ้น 138% รองลงมาคือ บรูไน เพิ่ม 21.5% ตามมาด้วยซาอุดิอาระเบีย เพิ่มขึ้น 18.% แอฟริกาใต้ 16.4% ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 6.7% ลาว 8.6% เม็กซิโก เพิ่มขึ้น 6.7% สหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้น 5.8% อินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น 5.2% และเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 4.7%

 

ขณะที่ สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ยางพารา หดตัว 41.1% หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน หดตัวในตลาดจีน
มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวในตลาดโรมาเนีย และสหราชอาณาจักร อาหารสัตว์เลี้ยง หดตัว  25.0%  หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเชีย ออสเตรเลีย และอิตาลี แต่ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา บังกลาเทศ และรัสเชีย ผลไม้กระป้องและแปรรูป หดตัว  17.8% ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 1.9%

 

ปัจจัยที่มองว่า มีความท้าทายต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ คือ ภาคการผลิตโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง การส่งออกบางสินค้าอยู่ในช่วงขาลง ตามความต้องการที่ลดลงจากการสั่งซื้อไปแล้วในช่วงก่อนหน้า

 

อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ในไตรมาสแรกของปี 2566 แม้จะหดตัว ทั้งการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ และการเปิดตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และการทำความตกลงทางการค้าในระดับท้องถิ่นกับตลาดศักยภาพในจีน เกาหลีใต้ และอินเดีย ช่วยสนับสนุนการนำรายได้เข้าสู่ประเทศ และคาดว่าจะช่วยประคับประคองการส่งออกของไทยให้ผ่านพ้นภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้  ขณะที่ การส่งออกไตรมาส 2 จะหดตัวหรือไม่ยังไม่สามารถคาดการณ์ในตอนนี้