posttoday

เกษตร-ท่องเที่ยวฟื้น ดันความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม มี.ค. 66 พุ่งสูงสุดรอบ 10 ปี

19 เมษายน 2566

ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม มี.ค. 2566 แตะ 97.8 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สูงสุดในรอบ 10 ปี ปัจจัยกำลังซื้อภูมิภาคฟื้นตัวจากรายได้ภาคเกษตร-ท่องเที่ยวหนุน แต่ยังกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอ วอนรัฐลดค่าไฟต่ำกว่า 4.40 บาท

นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ  รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมี.ค. 2566 อยู่ที่ระดับ 97.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 96.2 ในเดือนก.พ. 2566 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายของอุปสงค์ในประเทศ และกำลังซื้อในส่วนภูมิภาคจากรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการขยายตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติ และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศของภาครัฐ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีภาคการก่อสร้างที่ขยายตัวส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบ และค่าไฟฟ้า ขณะที่ราคาพลังงานยังคงผันผวน ในขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในทิศทางขาขึ้นเป็นอีกปัจจัยกดดันต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs นอกจากนี้ อุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ตลอดจนความผันผวนของค่าเงินบาท ก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทย

 

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. 66 แตะ 97.8 พุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปีสำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 106.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 103.2 ในเดือนก.พ. เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งมีปัจจัยขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ ขณะที่การเปิดประเทศของจีน เป็นแรงสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น


นายสรกิจ มั่นบุปผชาติ รองเลขาธิการ  ส.อ.ท.กล่าวว่า  ขณะที่ ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้

 

1. ขอให้พิจารณาทบทวนมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ในงวดที่ 2 (เดือนพ.ค.-ส.ค. 2566) ให้ต่ำกว่า 4.40 บาทต่อหน่วย 

 

2. ส่งเสริมการเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ อาทิ ในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) กลุ่มประเทศ MERCOSUR (เมร์โกซูร์) กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance) โดยเฉพาะสินค้าประเภทยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยาง และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
 

 

3. เร่งรัดการแก้ไขปัญหาการเผาป่าตามแผนเฉพาะกิจ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566

 

"ค่าเงินบาทขณะนี้เริ่มอ่อนค่าลงทำให้เอกชนมีความกังวลลดลง เช่นเดียวกับภาวะเศรษฐกิจไทยเพราะเกษตรและท่องเที่ยวในประเทศดีขึ้น อีกทั้ง การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นวันที่ 14 พ.ค. 2566 มีความชัดเจน ทำให้ความกังวลในประเด็นการเมืองก็ลดลง แต่สิ่งที่กังวลเพิ่มขึ้นคือ เศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นทำให้อัตราดอกเบี้ยจริงในท้องตลาดจะเพิ่มขึ้นในอนาคต" นายสรกิจ กล่าว