posttoday

เปิดข้อมูลนักท่องเที่ยวหลังโควิด คนหน้าใหม่เพิ่ม เน้นเที่ยวสไตล์ตัวเอง

21 มีนาคม 2566

ภาคท่องเที่ยวตื่นตัวรับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป หนุนการใช้งาน Google Cloud เก็บ-วิเคราะห์ข้อมูล สร้างกลยุทธ์ท่องเที่ยวตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม

นางเอพริล ศรีวิกรม์ ผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Google Cloud กล่าวว่า ความต้องการเดินทาง ทางอากาศขาเข้าในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างมาก เห็นได้จากปริมาณการค้นหาของ Google ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ซึ่งตรงกับวันที่ประเทศไทยประกาศยกเลิกข้อจำกัดด้านโควิด-19 ทั้งหมด พบว่ามีความต้องการขาเข้าเพิ่มขึ้น 386% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยการฟื้นตัวนี้ยังคงดำเนินต่อไปจนถึงเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งมีความต้องการขาเข้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 161% เมื่อเทียบเป็นรายปีจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ความต้องการเดินทาง ทางอากาศขาออกจากประเทศไทยได้รับความต้องการที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกัน โดยในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ความต้องการเดินทางขาออกเพิ่มขึ้น 544% เมื่อเทียบเป็นรายปี การฟื้นตัวนี้ดำเนินต่อไปจนถึงเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งมีความต้องการดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่า 187% เมื่อเทียบเป็นรายปีจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม มากกว่า 1 ใน 2 ของผู้บริโภคดิจิทัลในเมืองในประเทศไทยใช้บริการด้านการท่องเที่ยวออนไลน์อยู่แล้ว และหมวดหมู่นี้คาดว่าจะเติบโต 22% เมื่อเทียบเป็นรายปี และ จะมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยถึง 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2568 ผู้เล่นในระบบนิเวศการเดินทางจึงไม่สามารถมองข้ามความสำคัญของการนำเสนอบริการดิจิทัลที่เปิดตลอดเวลา เรียบง่าย เป็นส่วนตัว และปลอดภัย

ในขณะเดียวกัน เทรนด์การค้นหาของ Google ยังบ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมใกล้เคียงสามารถคว้าโอกาสจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกด้วย เห็นได้จากคำค้นหาเกี่ยวกับ “ประกันการเดินทาง” และ “การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์” ในประเทศไทย ซึ่งเติบโตขึ้นมากกว่า 900% และ 500% ตามลำดับ ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา สถาบันการเงินและผู้ให้บริการด้านสุขภาพจึงต้องหาวิธีนำเสนอข้อเสนอที่เหมาะกับนักเดินทางที่ต้องการความคุ้มครองมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดและมาเยือนประเทศไทยเพื่อจุดประสงค์หลักในการรับการรักษาพยาบาล

นอกจากนี้ คำค้นหาเกี่ยวกับ "การท่องเที่ยวเชิงทำอาหาร" ในประเทศไทย ยังเติบโตมากกว่า 110% ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้เล่นในอุตสาหกรรมอาหารที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีเป้าหมายหลักในการเดินทางเพื่อชิมและนำอาหารไทยต้นตำรับกลับบ้านไปรับประทาน ได้ดีขึ้น

นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า พฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับนโนบายของรัฐบาลในการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้บริบทใหม่ของ ททท. ต้องนำดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการหาข้อมูลนักท่องเที่ยวเพื่อนำมาสร้างกลยุทธ์ และเข้าใจความต้องการของนักท่องเที่ยว 

นายวรวุฒิ แสนทวีสุข ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาและบูรณาการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2565 ทอท.มีผู้โดยสารเข้าประเทศ จำนวน 45 ล้านคน ซึ่งคิดสัดส่วน 1 ใน 3 ของปริมาณผู้โดยสารก่อนที่จะเกิดโควิด ขณะที่ในปี 2566 ทอท.คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 96 ล้านคน และจะกลับไปมีตัวเลขเหมือนเดิมในช่วงก่อนเกิดโควิดคือ 142 ล้านคน ในปี 2567 

ดังนั้น เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารขาเข้าและขาออกของท่าอากาศยานนานาชาติ 6 แห่ง (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่) ทาง ทอท. และพันธมิตร บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ  SKY ผู้ให้บริการโซลูชันเทคโนโลยีการบินชั้นนำ จึงได้ย้ายอสังหาริมทรัพย์ดิจิทัลของ ทอท. ไปยังโครงสร้างพื้นฐานแบบเปิดที่ปรับขนาดได้และปลอดภัยของ Google Cloud 

ทอท.มีแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ SAWASDEE by AOT ให้สามารถจัดการภาระงานปกติได้มากถึง 10 เท่า พร้อมทั้งให้ประสบการณ์การใช้งานที่ราบรื่น และยังปรับขนาดลงเองได้อัตโนมัติเพื่อลดต้นทุนในช่วงที่ไม่ต้องการทรัพยากรการประมวลผลเพิ่มเติมอีกต่อไป ทาง ทอท. และ SKY ได้เพิ่มขีดความสามารถในการรับและส่งข้อมูลอัปเดตตามเวลาจริงของข้อมูลสนามบินและเที่ยวบินไปยังผู้โดยสารหลายล้านคนได้ตามเวลาที่ต้องการ ผ่านการใช้บริการจัดการฐานข้อมูลของ Google Cloud เพื่อจำแนกและจัดเปลี่ยนข้อมูลภายในคลังต่าง ๆ ขององค์กร ซึ่งช่วยให้ผู้โดยสารหลายล้านคนได้รับข้อมูลสนามบินและเที่ยวบินตามเวลาจริง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การเช็คอิน การตรวจคนเข้าเมือง การขึ้นเครื่อง ไปจนถึงการรับสัมภาระ

จากการที่ SKY ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT ให้เป็น "Must Have Thailand Travel App" แบบ All-in-one ที่เป็นแอปพลิเคชันให้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ ทางบริษัทจึงใช้ Google Kubernetes Engine (GKE) เพื่อทำให้การปรับใช้และอัปเกรดแอปพลิเคชันเป็นไปเองอัตโนมัติ โดยไม่เข้าไปรบกวนการทำงาน และด้วย GKE ทีมเทคโนโลยีของ SKY ยังสามารถลดภาระงานไอทีแบ็กเอนด์ที่ต้องใช้เวลานานไปกับการกำหนดค่าด้วยตนเอง และช่วยเร่งให้การเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ๆ หลายรายการที่ต้องทำเป็นประจำในแอปสามารถทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การให้บริการติดตามสัมภาระเพื่อความอุ่นใจของนักเดินทาง รายการตรวจสอบการเดินทางขาออกพร้อมแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับการเดินทางที่ปลอดภัยและไม่ยุ่งยาก อีคอมเมิร์ซปลอดภาษี โปรแกรมรอยัลตีของสนามบิน คำแนะนำการเดินทางที่คัดสรรมาแล้ว การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ อีกมากมาย

“จากสถิติที่เราเก็บพบว่า คนรุ่นใหม่เข้ามาเที่ยวมากขึ้น และ 90% เป็นนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ ที่มีไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวแบบเฉพาะตัว เมื่อก่อนเราสร้างเทคโนโลยีเพราะคิดว่าเขาต้องใช้ เขาต้องการ แต่ตอนนี้เราจะสร้างเทคโนโลยีตามที่เขาต้องการ เน้นสร้างเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ดังนั้นการใช้งานต้องง่าย เมื่อก่อนเราจะรู้แค่ปริมาณนักท่องเที่ยว แต่ต่อไปเราจะนำข้อมูลตรงนี้มาพัฒนาบริการให้ดีขึ้น เช่น ตรงไหน แออัด เพราะอะไร คนชอบเดินไปทางนี้ เพราะอะไร นำข้อมูลที่วิเคราะห์ได้มาสร้างบริการให้ผู้โดยสาร”

นายขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี สกาย ไอซีที  กล่าวว่า ผู้ให้บริการสนามบินจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับความท้าทายต่าง ๆ ท่ามกลางการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในขณะนี้ เช่น ยกระดับประสบการณ์การใช้บริการให้กับผู้โดยสาร และลดปัญหาติดขัดล่าช้าภายในสนามบิน ระบบไอทีและแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการดำเนินการต่าง ๆ ภายในสนามบิน จึงถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญต่อการให้บริการลูกค้าในทุกมิติ

ในฐานะผู้ให้บริการเทคโนโลยีการบินชั้นนำของประเทศไทย SKY มุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับบริษัทที่มีแนวคิดเดียวกัน อย่าง Google Cloud เพื่อนำเสนอโซลูชันที่เชื่อถือได้มาช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งหลักการแบบโอเพ่นซอร์สและการออกแบบที่ปลอดภัยของ Google Cloud จะช่วยให้เราสามารถผสานรวมเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างราบรื่น อาทิ ระบบนำทางภายในอาคาร ที่จอดรถอัจฉริยะ และไบโอเมตริกซ์ ตลอดจนการเข้ารหัสกระแสข้อมูลในระบบ เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลให้กับผู้ใช้งาน

โดยภายในไตรมาส 2 ปีนี้ ระบบนำทางในอาคารจะพร้อมเปิดให้บริการ ซึ่งเหมาะกับพฤติกรรมที่แตกต่างกันของผู้โดยสารในการวางแผน เช่น ต้องการบริการ Fast Track หรือ ต้องการซื้อสินค้าในดิวตี้ฟรี ระบบนี้จะตอบโจทย์และช่วยวางแผนก่อนการเดินทางได้