posttoday

SBV แบงค์แรกที่ล่มจาก Perfect Storm เหยื่อของ Easy Money

19 มีนาคม 2566

"กอบศักดิ์" เผยเหตุ SBV ล้มจากสภาพคล่องในระบบล้น ผลจากทางการอัดฉีดสู้ช่วงโควิด การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่เร็ว ต่อเนื่อง ทำให้ราคาของพันธบัตรเสื่อมค่าลง ผสมกับความไม่เชื่อมั่นทำให้คนแห่ถอนเงิน กดดันต้องขายพันธบัตรก่อนกำหนด ถือเป็นแบงค์แรกที่ล่มจาก Perfect Storm

การล้มลงของ SVB เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นประเด็นที่หลายคนตั้งคำถามว่า เกิดได้อย่างไร 
ทำไมธนาคารที่อยู่มาเกือบ 40 ปี มีผลประกอบการดีมาตลอด หุ้นก็กำลังคึกคัก ราคาเพิ่มไปแตะ 330 ดอลลาร์ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้รับการยกย่องจาก Forbes ว่าเป็นหนึ่งใน American Best Bank 2022 จึงล้มลงในเวลาสั้นๆ เพียง 2-3 วัน
 
ส่วนหนึ่งคงต้องบอกว่า

1.เป็นผลมาจากสภาพคล่องจำนวนมาก ที่ทางการอัดฉีดออกมาในช่วงการต่อสู้กับโควิด 
ทำให้ SVB ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อปลายปี 2562 ก่อนโควิด SVB มีเงินฝากเพียง 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 1.02 แสนล้านดอลลาร์ในปลายปี 2563 เป็น 1.89 แสนล้านดอลลาร์ ณ ปลายปี 2564 เพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วงสั้นๆ เพียง 3 ปี !!!
เงินที่ล้นตลาด ดอกเบี้ยที่ต่ำเตี้ยติดดินจากเฟด ส่วนหนึ่งได้ไหลมาลงทุนในกลุ่ม Startups ที่เป็นลูกค้าหลักของ SVB ทำให้ธนาคารได้เงินฝากมาเป็นจำนวนมาก

 

ขณะเดียวกัน จากสภาพคล่องที่ท่วมแบงค์ ไม่รู้จะเอาไปปล่อยสินเชื่อที่ไหน SVB จึงกลายเป็นเหยื่อของ Easy Money มีปัญหาในการบริหารจัดการเงินจำนวนนี้ และการบริหารความเสี่ยงจากเงินที่เข้ามา กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริง ของการล้มลงในที่สุด

 

2.เป็นเพราะโครงสร้างของผู้ฝากเงินของ SVB
ที่พึ่งพาเงินฝากจากรายใหญ่เป็นสำคัญ Startups แต่ละแห่งที่เป็นลูกค้าของธนาคาร ได้ฝากเงินก้อนใหญ่ ที่ได้จาก Venture Capital ต่างๆ เอาไว้ ทำให้เงินฝากของ SVB มากกว่า 90% เป็นบัญชีใหญ่เกินกว่า 250,000 ดอลลาร์ เงินเหล่านี้จึงไม่ได้รับการคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากของสหรัฐ (FDIC)

 

แต่เงินส่วนนี้ คือ ชีวิตของ Startups กว่าจะได้มา ก็ต้องไปโฆษณาชักชวนให้คนที่สนใจมาลงเงินรอบแล้ว รอบเล่า หากอยู่ๆ หายไป ก็ยากจะเดินหน้าต่อไปได้ ทำให้ผู้ฝากกลุ่มนี้ อ่อนไหวกับข่าวความไม่มั่นคงของ SVB และ SVB ก็อ่อนไหวกับความกลัวของผู้ฝากกลุ่มนี้ ช่วงที่เงินฝากไหลเข้า ก็ดูดี เพราะได้เงินก้อนมาเป็นชิ้นเป็นอัน แต่จริงๆ แล้วกลายเป็นระเบิดเวลาที่แฝงตัวเอาไว้ รอวันที่ความเชื่อมั่นสั่นคลอน

 

3.การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเมื่อต้นปี 65 ทำให้เรือเริ่มล่มลง

 

ช่วงแรกล่มลงอย่างช้าๆ ไม่มีคนเฉลียวใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเมื่อมีเงินฝากล้น เงินฝากมาง่าย SVB ก็เอาเงินจำนวนนี้ไปฝากกินส่วนต่างของดอกเบี้ย โดยเฉพาะในพันธบัตรระยะยาวประเภทต่างๆ 
ช่วงต้นๆ ของการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ก็ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่เมื่อดอกเบี้ยเริ่มขึ้นต่อเนื่อง สภาพคล่องเริ่มลด ตลาดทุนผันผวน เงินฝากที่ไหลเข้ามาง่ายๆ ก็หยุดลง ณ สิ้นปี 2565 เงินฝากของ SVB ก็ลดลงเป็นครั้งแรก จากยอดที่ 1.89 แสนล้านดอลลาร์ ปลายปี 2564 มาเหลือ 1.73 แสนล้านดอลลาร์ ลูกโป่งที่เคยโป่งพอจากเงินง่ายๆ เริ่มลดขนาดลง

 

ยิ่งไปกว่านั้น ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในระบบ ทำให้เกิดความเสียหายซ่อนไว้ในบัญชี จากพันธบัตรต่างๆ ที่ SVB ไปลงทุนเอาไว้ พันธบัตรระยะยาวเหล่านี้ ดูเหมือนจะเป็นการลงทุนที่ดีในช่วงดอกเบี้ยต่ำ แต่ช่วงดอกเบี้ยขึ้น กลับกลายเป็นสิ่งที่มาทิ่มแทงธนาคาร

 

จากข้อมูลพบว่า ก่อนเฟดขึ้นดอกเบี้ย SVB ลงทุนไว้ในพันธบัตรต่างๆ มากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของเงินฝากที่ได้มา ส่วนมาก 75% เป็นการลงทุนที่ตั้งใจจะไม่ขายออกมา หรือถือไว้ไปจนครบอายุ (Hold to Maturity) เพื่อว่าในทางบัญชี SVB จะได้ไม่ต้องสนใจกับการขึ้นลงของราคา

 

อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง เกินคาด ทำให้ราคาของพันธบัตรเหล่านี้จึงเสื่อมค่าลงโดยรวมประมาณ 20% 

 

แต่เนื่องจากทางบัญชีบอกว่า พันธบัตรที่ถือไปจนครบอายุ แม้จะมีความเสียหาย ก็สามารถซ่อนเอาไว้ได้ ปัญหาที่แฝงอยู่จึงถูกซุกเอาไว้ใต้พรม ได้รับความสนใจไม่มาก มีเพียงคำอธิบายเล็กๆ ใต้ตารางว่า ราคาของพันธบัตรที่ถือไว้จนครบอายุเหล่านี้ของ SVB มีค่าอยู่ที่ 7.62 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีความเสียหายที่ซ่อนอยู่ 1.51 หมื่นล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2565 ใหญ่พอๆ กับมูลค่าหุ้นของ SVB ที่มีอยู่ที่ 1.63 หมื่นล้านดอลลาร์ เลยทีเดียว !!!!

 

4.ชนวนระเบิดมาจาก “ความกลัวของคน”
ความกลัวที่ว่า “หากแบงค์เป็นอะไรไป เงินฝากของตนจะหายไป” 

 

ครั้นเมื่อเริ่มมีข่าวว่า SVB อาจจะเกิดปัญหา Startups เหล่านี้ ก็เริ่มถอนเงินออกมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในปัจจุบัน ข่าวลือสามารถสะพัดไปได้ง่ายในวงโซเซียล การถอนเงินสามารถทำได้ที่เพียงปลายนิ้วกด กลายเป็นการแห่ถอนเงินยุค 4.0 หรือ Bank Run 4.0 

 

เมื่อมีข่าวสะพัดในวง Twitter วง Private Chat ว่า SVB อาจจะเกิดปัญหา ต้องพยายามเอาเงินออกมาก่อน ทุกคนก็เร่งไปถอนเงิน ผ่านระบบออนไลน์ ทำให้ในวันเดียว ถูกถอนเงินออกไป 42,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 25% ของเงินฝากทั้งหมดที่มีอยู่

 

ครั้นเมื่อมีคนมาเร่งถอนเงินขนาดนี้ SVB ก็ไม่มีทางเลือก ทำให้ต้องเอาพันธบัตรที่ตั้งใจไว้ว่าจะถือจนครบกำหนดออกมาขาย เพื่อจะได้เป็นเงินสดไปให้กับลูกค้าที่ต้องการเงินคืน ทำให้ความเสียหายที่ถูกซ่อนไว้ กลายเป็นความเสียหายที่แท้จริง

 

สุดท้าย เมื่อต้องแถลงว่า ต้องเพิ่มทุนด่วน เพื่อเอามากลบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเร่งขาย เส้นทางลงสู่เหวก็ได้เริ่มต้นขึ้น และจบลงอย่างรวดเร็วโดยภายใน 2 วัน แบงค์ที่สร้างขึ้นมาด้วยความยากลำบากในเวลา 40 ปี จึงถูกปิดกิจการลง กลายเป็นกรณีศึกษา … แบงค์แรกที่ล่มจาก Perfect Storm เหยื่อของ Easy Money ให้กับทุกคน