posttoday

แนะ "ผู้ส่งออก-นำเข้า" จับตาบาทผันผวน วางแผนบริหาร “ค่าเงิน” ลดความเสี่ยง

16 มีนาคม 2566

กระทรวงพาณิชย์ ส่งสัญญาณ ผู้ส่งออก-นำเข้า ติดตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินอย่างใกล้ชิด ที่อาจผันผวน จากวิกฤตปิดแบงก์สหรัฐ โดยเฉพาะส่งออกจะได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า แนะวางแผนบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ล่วงหน้า

หลังธนาคาร Silicon Valley Bank หรือ SVB ประสบปัญหา ต้องเข้าสู่กระบวนการพิทักษ์ทรัพย์ ภายใต้การคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝากของสหรัฐ (Federal Deposit Insurance Corp: FDIC) โดยมีสาเหตุจากการขาดสภาพคล่องของธนาคาร ภายหลังธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง  ทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น และระดมทุนได้ยากขึ้น จนขาดแคลนกระแสเงินสดหมุนเวียนต้องขายพันธบัตรในราคาต่ำ เกิดผลขาดทุน และกระทบต่อฐานะทางการเงิน และความเชื่อมั่นของลูกค้า รวมถึงสร้างความกังวลต่อระบบการเงิน และเศรษฐกิจในภาพรวมทั่วโลก รวมถึงผลกระทบต่อประเทศไทยในแง่ต่างๆ 

 

นาย พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่าผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศไทย ในระยะสั้น สนค. ประเมินว่า ผู้ส่งออกจะได้รับผลกระทบด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยกรณีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน และตลาดทุนของสหรัฐ และเกิดการโยกย้ายเงินของนักลงทุนมายังตลาดเกิดใหม่ (รวมถึงไทย) จึงส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า และผลักดันให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่า โดยเมื่อวันที่13 มี.ค. 2566 ค่าเงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่า ปิดอยู่ที่ระดับ 34.56 บาท/ดอลลาร์ (วันที่ 10 มี.ค. 2566 อยู่ที่ระดับ 35.08 บาท/ดอลลาร์) จึงทำให้ช่วงนี้ผู้ส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งจะมีผลต่อราคาสินค้าส่งออกที่แพงขึ้นในมุมมองของคู่ค้า

 

อย่างไรก็ดี ในมุมมองของการนำเข้าอาจได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่า โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าพลังงาน ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

 

จึงจะสรุปผลได้ว่า กรณีนี้จะส่งผลต่อเนื่องไปยังตลาดแรงงาน และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ หรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มการส่งออกของไทย เนื่องจากเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ที่มีสัดส่วนประมาณ 16% ของการส่งออกทั้งหมด สนค. ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการทั้งผู้ส่งออก และผู้นำเข้า คอยติดตามการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อวางกลยุทธ์การทำธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินในระยะสั้นได้อย่างเหมาะสมต่อไป

 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท 13-17 มี.ค.2566 สนค.ประเมินว่าค่าเงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่า และผันผวนมากขึ้นจากความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการที่FED ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ท่ามกลางประเด็นความกังวลเกี่ยวกับปัญหาในภาคธนาคารของสหรัฐหลังการสั่งปิดกิจการธนาคาร SVB ที่อาจลดโอกาสการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ

 

ความไม่แน่นอนในตลาดการเงินในระยะนี้ ทำให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน หรือปรับลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาทให้ผันผวน และอยู่ในระดับที่อ่อนค่าต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ยังมี ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติและการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีราคาผู้ผลิต ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน

 

เดือนก.พ.2566 ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ดัชนีความเชื่อมั่น และตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์จากมุมมองผู้บริโภค และผลสำรวจภาคการผลิตของ FED สาขานิวยอร์ก และสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนมี.ค.2566 รวมทั้ง ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB)

 

พูนพงษ์ กล่าวอีกว่า แม้ปัญหา SVB ยังได้ส่งผลต่อต่อตลาดเงิน และตลาดทุนของไทยซึ่งได้รับผลกระทบโดยทันที SET Index ปรับตัวลดลงราวๆ 80 จุด หรือคิดเป็น -5.4% ภายใน 2 วันทำการ แต่ในขณะนี้ยังคาดว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นในวงจำกัด และไม่รุนแรงเหมือน Subprime Crisis ในปี 2551 ที่ส่งผลเป็นวงกว้างต่อทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน และภาคเศรษฐกิจจริง โดยมีสาเหตุเริ่มต้นจากการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสหรัฐ สูง รวมถึงไทย 

 

ขณะที่วิกฤติ SVB มีลักษณะปัญหาที่เฉพาะตัว ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ของ SVB เป็นลูกค้าเงินฝากที่ไม่มีหลักประกัน ต่างจากธนาคารส่วนใหญ่ในสหรัฐ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ส่งผลในระยะสั้นเชิงจิตวิทยาต่อผู้ลงทุน ทำให้มีแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง นักลงทุนกลับมาถือเงินสดเพื่อลดความเสี่ยงและรอดูความชัดเจนของสถานการณ์ 

 

สนค. มีความเห็นสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่ปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบในวงจำกัด และมองว่า สถานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยยังแข็งแกร่ง มีการกำกับดูแลที่ดีจาก ธปท. และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ Basel มีมาตรการ การปล่อยสินเชื่ออย่างรัดกุมหลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 เป็นต้นมา

 

ปัจจุบันธนาคารไทยถูกกำกับดูแลด้วยหลักเกณฑ์ Basel III คือ หลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินของ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) ซึ่งครอบคลุมเรื่องการดำรงเงินกองทุนและการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องเพื่อบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องอย่างเคร่งครัด

 

การส่งออกไทยปี 2566 เหมือนเผชิญปัญหารอบด้านทั้งจากเศรษฐกิจตลาดหลักถดถอย และค่าเงินผันผวนการเฝ้าดูสถานการณ์ และบริหารจัดการที่ดีเพื่อนำพาธุรกิจให้หักหลบผลกระทบจากวิกฤติแบงก์สหรัฐในครั้งนี้รวมถึงวิกฤติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อีก