posttoday

บริบทใหม่ “ไทยคม” ในธุรกิจคาร์บอน เครดิต

06 มีนาคม 2566

สานนวัตกรรม ชูแนวคิดคนรุ่นใหม่ บวกแรงหนุนจากคนรุ่นเก่า จับมือพันธมิตรสู่ธุรกิจใหม่ที่เป็นมากกว่าเจ้าของดาวเทียม

บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) THCOM นับเป็นบริษัทที่เก่าแก่มากว่า 30 ปี ในธุรกิจดาวเทียมครบวงจร ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการส่งวงโคจรขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อให้บริการทั้งบรอดแบนด์และบรอดแคสต์ ทำให้บุคลากรที่อยู่กับไทยคมล้วนเป็นวิศวกรและคนรุ่นเก่าที่คุ้นชินกับการทำธุรกิจแบบเดิม

 

บริบทใหม่ “ไทยคม” ในธุรกิจคาร์บอน เครดิต

 

ทว่าเมื่อโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน การมองหารูปแบบธุรกิจแนวใหม่จำเป็นต้องมี ทำให้ในระยะหลังไทยคมมักมีชื่ออยู่ในอุตสาหกรรมคาร์บอน เครดิต ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ของประเทศไทยและเทรนด์ของโลกที่ต่างหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ 

 

ยืนหนึ่งโซลูชันคาร์บอน เครดิต

 

คำถามคือ ไทยคม เข้าไปอยู่ตรงจุดไหนของตลาดคาร์บอน เครดิต เรื่องนี้ “ปฐมภพ สุวรรณศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยคม เล่าให้ฟังว่า คาร์บอน เครดิต เป็นเรื่องใหม่ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและเป็นเรื่องระยะยาว ปกติหากต้องการคำนวณพื้นที่ป่า ต้องใช้คนเข้าไปจดในพื้นที่ ซึ่งเกิดความล่าช้าและอาจไม่แม่นยำ สิ่งที่ไทยคมเข้าไปในธุรกิจนี้คือการใช้โซลูชันซึ่งได้รับการรับรองจากองค์กรเกี่ยวกับคาร์บอน เครดิต ในประเทศสหรัฐอเมริกา

 

บริบทใหม่ “ไทยคม” ในธุรกิจคาร์บอน เครดิต

 

หลักการทำงานคือ ไทยคม ไม่ได้ผลิตดาวเทียมเอง แต่เน้นการจับมือกับพันธมิตรบริษัทในสหรัฐอเมริกาที่มีดาวเทียมสำรวจ LEO อยู่แล้ว ในการถ่ายภาพดาวเทียมในพื้นที่ป่าเป้าหมาย ผสมผสานกับโดรนถ่ายภาพในบางพื้นที่ที่ต้องการเห็นภาพชัดเจน และดาวเทียมเข้าไม่ถึง จากนั้น ไทยคม ซึ่งเป็นเจ้าของโซลูชัน จะนำภาพถ่ายที่ได้ มาประมวลด้วยระบบ AI เพื่อคำนวณพื้นที่ป่าและหาค่าของคาร์บอน เครดิต ให้กับลูกค้าเพื่อเป็นประโยชน์กับองค์กรเขาเองหรืออาจนำไปสู่การขาย คาร์บอน เครดิต ขององค์กรลูกค้า 

 

ไทยคม ถือเป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยที่ทำธุรกิจนี้ เป้าหมายของไทยคม คือ กลุ่มลูกค้าในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่มีพื้นที่ป่าจำนวนมาก
 

 

"ปฐมภพ"  กล่าวว่า การคำนวณคาร์บอน เครดิต ในพื้นที่ป่า เป็นศาสตร์เฉพาะเพราะพื้นที่ป่าแต่ละประเภทก็มีการคำนวณที่ไม่เหมือนกัน ป่าชายเลน กับ ป่าดงดิบ ใช้โซลูชันเดียวกันไม่ได้ การใช้เทคโนโลยีในกระบวนการตั้งแต่การเก็บภาพไปจนถึงการวิเคราะห์และประเมินค่าคาร์บอนออกมาจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะให้ผลที่แม่นยำกว่า รวดเร็วกว่า 

 

หนุนคนรุ่นใหม่ผุดนวัตกรรม

 

ช่วงเวลาครึ่งปีที่ผ่านมา ไทยคม ได้นำคนรุ่นใหม่ ผสานการทำงานกับคนรุ่นเก่า ให้ทำงานร่วมกัน เพราะธุรกิจดั้งเดิมคือธุรกิจดาวเทียมเป็นความเชี่ยวชาญของคนรุ่นเก่าที่ทำมานาน ขณะที่ธุรกิจใหม่ๆที่ใช้นวัตกรรมเป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ เช่น โครงการคาร์บอน เครดิต เป็นตัวอย่างหนึ่งของผลงานจากคนรุ่นใหม่

 

บริบทใหม่ “ไทยคม” ในธุรกิจคาร์บอน เครดิต

 

การสนับสนุนคนรุ่นใหม่ของไทยคม ไม่ได้ตั้งบริษัทแยกเพื่อให้คนรุ่นใหม่ทำงานแบบสตาร์ทอัปทั่วไป แต่การบริหารงานของคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ภายใต้การบริหารงานของ “ปฐมภพ” คือ การบริหารการทำงานแบบ มัลติ เจเนอร์เรชัน คนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าทำงานร่วมกันได้ เพราะธุรกิจที่ต้องประสานกับหน่วยงานรัฐหรือองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องใช้คนไทยคมที่มีประสบการณ์

 

ดังนั้นคนรุ่นใหม่ของไทยคม ยังคงอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกับไทยคม เหมือนพ่อกับลูก แต่ปล่อยให้ลูกมีอิสระในการทดลองทำโครงการใหม่ๆ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 30 ปี เป็นหัวหน้า โครงการไหนเวิร์กก็ทำต่อ โครงการไหนไม่เวิร์กก็หยุดทำ โดยมีคนรุ่นเก่าคอยสนับสนุนทั้งเรื่องการให้คำปรึกษา บัญชี และเงินทุน เขาไม่ต้องไปหาแหล่งเงินทุนเองเหมือนสตาร์ทอัปทั่วไป เมื่อองค์กรมีคนรุ่นใหม่เข้ามา การทำงาน ประชุม ร่วมกันของทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ทำให้องค์กรสนุกขึ้น วัยรุ่นขึ้น


 

 

เรื่องดาวเทียม มีระเบียบ มีกฎหมาย ทุกอย่างต้องถูกต้อง แม่นยำ ต้องตัดสินใจแบบรอบคอบ แต่เรื่องโครงการใหม่ของคนรุ่นใหม่ น้องๆตัดสินใจเองได้เลย เรามีหน้าที่สนับสนุน

 

 

เดินหน้ารุกตลาดดาวเทียมทางทะเล

 

"ปฐมภพ"  กล่าวว่า ในส่วนของบริการสื่อสารความเร็วสูงผ่านดาวเทียมทางทะเล บนแพลตฟอร์ม นาวา ปัจจุบันไทยคมมีลูกค้าที่ใช้แพลตฟอร์มอยู่แล้วด้วยจำนวนเรือ 120 ลำ และแท่นขุดเจาะน้ำมันจำนวน 2-3 แห่ง นอกจากนี้ยังได้ขยายพันธมิตรกับผู้ให้บริการดาวเทียมทั่วโลก เพื่อโรมมิ่งสัญญาณ ซึ่งสามารถให้บริการได้ทั่วโลก ทำให้ขณะนี้ลูกค้าสนใจเเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าจากประเทศญี่ปุ่น ที่ทำธุรกิจแผนที่การเดินเรือทางทะเล

 

ธุรกิจนี้ถือเป็นการสร้างรายได้ที่ดี  โดยมีรายได้อยู่ที่ 5-6 หมื่นบาทต่อลำต่อเดือน ขณะที่แท่นขุนน้ำมันมีรายได้อยู่ที่ 3 แสนต่อเดือน  คาดว่าในปีนี้จะมีการเติบโตไม่น้อยกว่า 20%  

 

ทวงคืน TOP 10 ตลาดดาวเทียมโลก

 

ในส่วนของธุรกิจเดิมคือเจ้าของดาวเทียมนั้น "ปฐมภพ" กล่าวว่า หลังจากที่ไทยคมชนะการประมูลวงโคจรจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไทยคมคาดว่าเมื่อแผนการยิงดาวเทียมวงโคจร 119.5E สำเร็จจะสามารถกลับมาเป็นผู้ให้บริการดาวเทียม TOP 10 ของโลกได้ภายใน 3-4 ปี จากปัจจุบันที่อยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก 

 

ไทยคม ได้เตรียมเงินลงทุน 15,203 ล้านบาท ในการสร้างดาวเทียมวงโคจร 119.5E  จำนวน 3 ดวง  แบ่งเป็นดวงเล็ก 2 ดวง และดวงใหญ่ 1 ดวง เพื่อใช้ทดแทนดาวเทียมไทยคม 4 ที่คาดว่าจะหมดอายุทางวิศวกรรม สิ้นปี 2567 ตามเงื่อนไขการประมูลของกสทช.ที่ต้องการให้ลูกค้าได้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง

 

บริบทใหม่ “ไทยคม” ในธุรกิจคาร์บอน เครดิต

 

อย่างไรก็ตาม หลังไทยคมชนะการประมูลทำให้ลูกค้ากลับมามีความเชื่อมั่นในบริษัท 100% ดาวเทียมที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ จะเป็นดาวเทียมบอร์ดแบนด์ทั้ง 3 ดวง ซึ่งไทยคมมีฐานลูกค้าอยู่แล้วในภูมิภาคอาเซียน อินเดีย และญี่ปุ่น ส่วนวงโคจร 78.5E ยังมีเวลาอีก 3 ปี ในการยิงดาวเทียมตามเงื่อนไข ของ กสทช. ซึ่งยังมีเวลาในการวางแผนสร้างและยิงดาวเทียม คาดว่าจะเริ่มในปีหน้า

 

หลังจากยิงดาวเทียมดวงใหม่แล้ว ไทยคม มั่นใจว่า จะทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 10% จากปี 2565 ที่มีรายได้ 3,100 ล้านบาท และในระยะยาวยอดขายจะเติบโตถึง 3 เท่า โดยจะเป็นรายได้จากประเทศอินเดีย สัดส่วนสูงถึง 30% และคาดว่าในอนาคต 5 ปี ข้างหน้ารายได้จะมาจากต่างประเทศสัดส่วน 75% และไทย 25%

 

ทำให้ไทยคมจะกลายเป็นบริษัทระดับนานาชาติ ที่มีเจ้าของเป็นคนไทย และสามารถทวงบัลลังก์ TOP 10 ผู้ให้บริการดาวเทียมในระดับโลกได้อีกครั้ง