posttoday

เปิดประตู LiVE Exchange ส่ง ธุรกิจครอบครัว SMEs และ Startups สู่ตลาดทุน

04 มีนาคม 2566

ประพันธ์ เจริญประวัติ ถ่ายทอดแนวทางส่งเสริม SMEs และ Startup ให้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากตลาดทุน ด้วยการเปิดประตูสู่ตลาด LiVE Exchange ตีคู่ LiVE Platform ติดอาวุธความรู้และเตรียมพร้อมระดมทุนให้ธุรกิจครอบครัวทั่วไทยมากขึ้น เช่น วางกรอบธรรมนูญครอบครัว

ด้วยโจทย์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ต้องการขยายบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยและผู้ประกอบการไทยในวงกว้าง  จึงเน้นให้กลุ่มกิจการ SMEs โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัว และกิจการ Startup ใช้ประโยชน์และเข้าถึงตลาดทุนได้มากขึ้น

 

จึงนำไปสู่การพัฒนาตลาด LiVE Exchange เพื่อการระดมทุนและการลงทุน (ตลาดรองหรือ Secondary Market สำหรับการซื้อขาย/เปลี่ยนมือหลักทรัพย์) และ LiVE Platform (แหล่งเรียนรู้และสร้างการเติบโตทางธุรกิจ)  จากการเปิดเผยของ ประพันธ์ เจริญประวัติ  ในฐานะผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์

 

โดยเฉพาะด้วยปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดทรัพย์กว่า 800 บริษัท ซึ่งกว่า 70% เป็นบริษัทที่มีพื้นฐานจากธุรกิจครอบครัวมาก่อนอยู่แล้ว จึงยังมีโอกาสอีกมาก ที่จะดึงให้บริษัทอีกมากมายที่ยังอยู่นอกตลาดเข้ามาเป็น บจ. มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs เพื่อสนับสนุนการเติบโตของบริษัทและสนับสนุนการเข้าถึงตลาดทุน


ประพันธ์เล่าว่าแนวคิดตั้งต้นของการพัฒนาตลาดทุนสำหรับ SMEs และ Startups เริ่มจากมุมมองด้าน Light Touch Supervision หรือการผ่อนปรนคุณสมบัติสาหรับบริษัท พร้อมกำหนดหน้าที่หลังเข้าจดทะเบียนให้เหมาะสมกับ SMEs และ Startups

 

รวมถึงมุมมองเรื่อง Investor Protection ซึ่งเป็นการกำหนดประเภทผู้ลงทุน และวิธีการซื้อขายให้เหมาะสมกับการกากับดูแลและความเสี่ยง ตลอดจนด้าน Information Based ที่เน้นเปิดเผยข้อมูลที่สาคัญของบริษัท และการติดตาม หรือสอบถามข้อมูลโดยผู้ลงทุน

 

อย่างไรก็ตาม กว่าจะหาจุดลงตัวและวางกติกา เพื่อให้กิจการ SMEs และ Startups สามารถเข้ามาระดมทุนและเปิดซื้อขายหลักทรัพย์ได้นั้น ต้องใช้เวลาหลายปีและใส่พลังในการขับเคลื่อนไปไม่น้อย จนนำไปสู่การแจ้งเกิด LiVE Exchange เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2565 ซึ่งมีจุดที่แตกต่างทั้งในแง่การระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อเทียบกับ SET และ mai ในหลายแง่มุม 


ตั้งแต่การกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นของบริษัทที่จะมาระดมทุน ที่ต้องเป็น SMEs ขนาดกลางขึ้นไป ตามนิยามของ สสว. (SME ขนาดกลาง : ภาคการผลิต : มีรายได้ต่อปี 100 - 500 ล้านบาท ภาคบริการ มีรายได้ต่อปี 50 - 300 ล้านบาท) ขณะที่กิจการ Startups ต้องมี VC / PE ร่วมลงทุนถึงระดับ Serie A แล้ว

 

แต่ไม่ต้องมีที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) หากเสนอขายกับผู้ลงทุนตามประเภทที่ ก.ล.ต. กำหนด (Professional Investor, คนคุ้นเคย, HNW / HNW) สามารถใช้งบการเงินงวดปีล่าสุด + 6 เดือนแรกของปีบัญชีก่อนยื่นไฟลิ่ง และจัดทำรายงานมาตรฐานรายงานทางการเงิน (PAEs)

 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องเสนอขายกับผู้ลงทุนที่ ก.ล.ต. กำหนดผ่านบริษัทผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (underwriter) ตลอดจนมีมูลค่าระดมทุน 10 - 500 ล้านบาท และระดมทุนได้ไม่ต่ำกว่า 80% ของมูลค่าระดมทุนที่ตั้งไว้

 

ขณะที่ในด้านการลงทุน ก็กำหนดกลุ่มผู้มีคุณสมบัติไว้ว่า หนึ่งเป็นผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional Investor), นิติบุคคลร่วมลงทุน (VC), กิจการเงินร่วมลงทุน (PE) สองเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการลงทุน อาทิ ผู้จัดการกองทุน นักวิเคราะห์การลงทุน, Angel Investor

 

สาม เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัท ได้แก่ กรรมการ, ผู้บริหาร, พนักงาน, ผู้ถือหุ้นรายใหญ่, บริษัทย่อยและบริษัทร่วม สี่ ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งมีคุณสมบัติเกี่ยวกับความรู้หรือประสบการณ์ และฐานะการเงิน

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ลงทุนส่วนใหญ่ใน LiVE Exchange ยังเป็นกลุ่มนักลงทุนบุคคลที่มีความมั่งคั่งสูง ซึ่งล่าสุดมีบริษัทที่มาระดมทุนผ่านตลาด LiVE Exchange แล้ว 3 บริษัทคือ บมจ. แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส (AWS 22) ด้วยมูลค่าระดมทุน 80 ล้านบาท บมจ. สิทรอน เพาเวอร์ (SITRON 22) มูลค่าระดมทุน 66 ล้านบาท  และ บมจ. สตอเรจ เอเชีย (ISTORE 22) ด้วยมูลค่าระดมทุน 50.40 ล้านบาท  สำหรับในปีนี้คาดว่าจะมีเพิ่มอีก 5 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกิจการ SMEs  

 

เปิดประตู  LiVE Exchange  ส่ง ธุรกิจครอบครัว SMEs และ Startups สู่ตลาดทุน

 

LiVE Platform ติดอาวุธสู่ตลาดทุน

ประพันธ์เล่าถึงแนวทางเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านตลาดทุนสำหรับ SMEs และ Startups อีกว่า ได้มีการพัฒนา LiVE Platform หรือ แพลตฟอร์มให้องค์ความรู้ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถ และเตรียมความพร้อมในการระดมทุน ตั้งแต่เมื่อปี 2563

 

โดยเป็นเหมือนแหล่งความรู้รูปแบบต่าง ๆ ที่อยู่บน www.liveplatforms.com ซึ่งประกอบด้วย e-Learning VDO e-Book และบทความ/Infographic ที่แบ่งเป็นสององค์ประกอบหลักคือ Education Platform และ Scaling Up Platform


ในส่วน Education Platform เป็นแหล่งความรู้สำหรับผู้ประกอบการเริ่มต้น ผู้ประกอบการระยะเติบโต ผู้ลงทุนและผู้สนใจทั่วไป ที่นำเสนอในรูปแบบ e-Learning ที่เป็นแหล่งความรู้พื้นฐานผ่านห้องเรียนผู้ประกอบการ ซึ่งขณะนี้มีรวมกว่า 650 ชิ้นงาน

 

โดยครอบคลุม 5 หมวดวิชา 50 หลักสูตร ซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบการอย่างยั่งยืนและนวัตกรรม การบริหารจัดการ การบัญชี การตลาด การเงินและการระดมทุน ทั้งนี้ ล่าสุดมีจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าเรียนกว่า 360,000 คน และมีจำนวนลงทะเบียนเข้าอบรมกว่า 1.52 ล้านครั้ง (ปี2565 จานวนลงทะเบียนเข้าอบรมกว่า 700,000 ครั้ง)

 

Education Platform เป็นเหมือนห้องสมุดขนาดใหญ่มาก ที่เราแยก section ที่เป็น Family Business ออกมา  แล้วเราก็จะโปรโมตเรื่องนี้ในวงกว้าง ทั้งในกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัดมากขึ้น 


ส่วน Scaling Up Platform เป็นแหล่งความรู้สำหรับผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมในการระดมทุนผ่านตลาดทุน ที่แบ่งแยกย่อยเป็น 4 ส่วน

1) Advanced Education หรือหลักสูตรอบรมเชิงลึกทั้งหมด 49 หลักสูตร  ที่เน้นเเสริมสร้างทักษะพัฒนาต่อยอดในรูปแบบ e-Learning

2) Enterprise System หรือ ระบบงานที่สำคัญ ซึ่งสนับสนุนการใช้งานระบบที่ช่วยอานวยความสะดวกในการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้นเช่น ERP , Back Office , HR, Payroll เป็นต้น 

3) Business Coaching หรือ คลินิกปรึกษาทางธุรกิจ ที่ประกอบด้วยโปรแกรมบ่มเพาะทางธุรกิจต่าง ๆ ได้แก่ LiVE Acceleration Program LiVE Incubation Program LiVE Mini Incubation Program บริการเครื่องมือประเมินความพร้อม บริการคำแนะนาทางธุรกิจ (LiVE Guru) และ บริการเอกสารสัญญามาตรฐาน (ด้านกฎหมาย)

4) Business Matching หรือเจรจา/ขยายธุรกิจกับบจ. ซึ่งสนับสนุนการพบปะเจรจากับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนเพื่อเปิดโอกาสในการต่อยอดธุรกิจร่วมกันเช่น กิจกรรม Sharing Forum / Networking / Activities

 

ทั้งนี้ประพันธ์ได้เปิดเผยถึงการต่อยอดในส่วน Scaling Up Platform ว่าจะมีการพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ สำหรับกลุ่มธุรกิจครอบครัวมากขึ้น เช่น การจัดโครงสร้างธรรมนูญครอบครัว ซึ่งเดิมบางครอบครัวจะเลือกใช้บริการหรือขอคำปรึกษาจากพวกบริษัทกฎหมายต่าง ๆ ขณะที่ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ยังไม่ได้เตรียมพร้อม 

 

ในอนาคตเราจะเพิ่มการให้ความรู้และให้คำแนะนำเรื่องธรรมนูญครอบครัวมากขึ้น สำหรับกลุ่มธุรกิจครอบครัวทั่วไป ที่ต้องการวางพื้นฐาน วางโครงสร้างในอนาคต ให้สามารถนำเครื่องมือที่เราพัฒนาขึ้นไปใช้ได้เลย โดยไม่ต้องไปจ้างบริษัทกฎหมายหรือพวกที่ปรึกษา


ประพันธ์ยังเปิดเผยอีกว่า กลุ่มธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ที่ให้ความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมให้ความรู้ผ่าน LiVE Platform จะเป็นครอบครัวที่มองว่าจำเป็นต้องหาทางออกหรือวางแนวทางต่อยอดให้กิจการสามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยการใช้ประโยชน์จากตลาดทุน ขณะที่ยังมีบางส่วนที่มองว่ายังไม่ถึงเวลาหรือว่ายังไม่มีความจำเป็น จึงยังไม่ให้ความสนใจนัก 

 

อย่างไรก็ตาม มองว่ากลุ่มธุรกิจครอบครัวให้ความสนใจกับการใช้ประโยชน์จากตลาดทุนมากขึ้น เนื่องจากเป็นวิวัฒนาการที่หลายครอบครัวถึงยุคที่ต้องปรับตัว เช่น เป็นช่วงที่คนรุ่น 3 เริ่มเข้ามาบริหารจัดการธุรกิจ รวมถึงมีแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกที่ต้องทำให้กิจการอยู่รอดและสามารถแข่งขันได้ 

 

เป้าหมายการทำงานของตลาดฯ คือสร้าง eco system ก่อน เหมือนเป็นเวทีมวยมากกว่าเป็นค่ายมวย