posttoday

ธพว. แนะนำระบบ BCG ใช้ในองค์กรรองรับการเติบโตในอนาคต

15 กุมภาพันธ์ 2566

SME Dbank ชี้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว รับความท้าทายที่เกิดขึ้นในอนาคต พร้อมแนะนำระบบ BCG มาใช้ในองค์กรช่วยการเติบโต และความท้าทายที่เกิดขึ้นในระยะยาว

นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Dbank) เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการในประเทศไทยมีมากกว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศ ซึ่ง 95% เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีสัดส่วนต่อจีดีพีเพียง 35-40% ซึ่งเป็นการสื่อถึงธุรกิจของประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่ใช่เอสเอ็มอี ทั้งนี้หากผลักดันให้ธุรกิจเอสเอ็มอี เติบโตอย่างยั่งยืน และให้ประเทศเติบโตเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วต้องมีการสนับเอสเอ็มอีให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน 

 

“เอสเอ็มอีเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก มีความไวในการปรับตัว แต่ยังมีความเปราะบาง แหล่งเงินทุนจำกัด การบริหารจัดการอาจจะยังไม่ดี ขาดความเป็นมืออาชีพ ซึ่งต้องมีการปรับตัว จึงจะมีความท้าทายที่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งมี 6 เรื่องสำคัญ ได้แก่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ภัยธรรมชาติที่รุนแรงและการขาดแคลนทรัพยากร ภาวะเงินเฟ้อต้นทุนการดำเนินงาน สังคมผู้สูงวัย พฤติกรรมผู้บริโภคใน Next Normal และ โควิด-19 และการกลายพันธุ์โรคอุบัติอื่นๆ ที่จะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจมีการหยุดชะงัก”นายโมกุล กล่าว

 

อย่างไรก็ตามแม้จะมีความท้าทายต่างๆ ซึ่งจากการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และ สภาพัฒน์ ได้มีการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจของไทยที่ประมาณ 3-4% ซึ่งปีที่ผ่านมาเติบโตประมาณ 3.2% ระดับเงินเฟ้อคาดการณ์ว่าจะอยู่ในช่วง 2.5-3.5% ทั้งนี้ ธปท.ได้มีการกำหนดอัตราเงินเฟ้อ พยายามไม่ให้เกิน 3% เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพภาวะการเงินภายในประเทศ โดยสิ่งที่จะขับเคลื่อนประเทศคือเรื่องของการบริโภคภาคเอกชน ประมาณ 50% ของจีดีพีประเทศ นักท่องเที่ยว ที่มีการคาดการณ์ว่าจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประมาณ 22-23 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว ซึ่งเป็นกลไกหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ 

 

ส่วนภาคการลงทุนภาคเอกชนยังเติบโตอยู่แต่ไม่มาก ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 1% ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต และส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุนเอกชน อีกกลไกที่ยังคงขับเคลื่อนต่อแต่อยู่ในวงจำกัด คือเรื่องการลงทุนภาครัฐ ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา ภาครัฐ ได้มีการกระจายงบประมาณการลงทุนต่างๆ ไปค่อนข้างมาก และในปีนี้มีการขับเคลื่อนต่อไป ในเรื่องของภาคเอสเอ็มอี มีความเชื่อมั่น ซึ่งจากการสำรวจศูนย์วิจัยของเอสเอ็มอี รวมกับ ศศินทร์ คาดการณ์ว่าผู้ประกอบการ มองว่า มีความเชื่อมั่นมากขึ้น แต่ยังคงมีความกังวล เรื่องของการลงทุน กังวลเรื่องการจ้างแรงงาน และมีความเชื่อมั่นในการทำงานดีขึ้น เพราะฉะนั้นต้องมีการปรับตัวและรองรับเหตุการณ์ดังกล่าว 

 

และผลสำรวจยังพบอีกว่า ผู้ประกอบการต้องการการสนับสนุนทางการตลาด เช่น การทำตลาด พัฒนานวัตกรรม ขยายช่องทาง และเน้นเรื่องการขาย และที่สำคัญในเรื่องของการปรับการดำเนินงานของธุรกิจ มีการนำระบบไอทีมาใช้ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และเรื่องสำคัญคือ BCG ซึ่งเราได้มีการสำรวจจากผู้ประกอบการ 500 ราย โดยผู้ประกอบการ 100 ราย รับรู้นโยบาย 20% เข้าใจ 14% นำมาปฏิบัติ 3% นั้นหมายความว่าผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจ เอาแนวคิดเกี่ยวกับ BCG มาใช้ในการปรับปรุงภายในองค์กร จะทำให้ส่งผลดีต่อภาพรวมธุรกิจในระยะยาวแ

 

ทั้งนี้การนำ BCG มาใช้ในองค์กรจะช่วยการเติบโตได้ในระยะยาว ผ่านโมเดล 4R ได้แก่ Rethink เปลี่ยนความคิดใหม่ พัฒนาสู่สิ่งที่ดีกว่า Redesign ปรับธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ESG Model กรอบการทำธุรกิจที่ประณีตประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะคำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตลอดห่วงโซ่และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด  Reprocess ปรับกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพ Rebalance ปรับโครงสร้างทางการเงินให้เหมาะสม 

 

นายโมกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในมิติของการพัฒนาผู้ประกอบการของธนาคารเราได้มีการแบ่งเป็น 5-6 ด้าน ได้แก่ เรื่องการตลาด เรื่องที่สอง ด้านมาตรฐาน เรื่องที่สาม ด้านการเงิน เรื่องที่สี่ การผลิต เรื่องที่ห้า บัญชี และเรื่องที่หก การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งนี้ธนาคารจะมุ่งเน้นเรื่องการขยายตลาด ด้วยการทำงานร่วมกับพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภายใต้อุตสาหกรรมเอง หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อหาช่องทาง ให้องค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการใหม่ๆให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน