posttoday

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยชี้ "เอสเอ็มอีไทย" เจอ 3 ระเบิดเวลา

15 กุมภาพันธ์ 2566

หนี้ครัวเรือน-หนี้เสีย-หนี้นอกระบบ แนะรัฐบาลปรับแนวคิดใหม่ หากลไกบ่มเพาะเอสเอ็มอีฟื้นตัว ไม่ขึ้นดอกเบี้ยซ้ำเติมหนี้สิน

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวในงานสัมมนา “อนาคตประเทศไทย:SME จะไปทางไหน?” จัดโดย สื่อเครือเนชั่น ว่า จำนวนเอสเอ็มอีไทย ไม่ได้มีจำนวน 3.2 ล้านคน เท่านั้น แต่ยังมีเอสเอ็มอีแฝงในส่วนอื่นอีก คือ เกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรอีกประมาณ 10 ล้านคน โดยเอสเอ็มอีมีการจ้างงานอีกประมาณ 12 ล้านคน ดังนั้นจึงเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นหัวใจสำคัญของประเทศ

 

ทว่า เอสเอ็มอี กำลังประสบวิกฤติ 5 ส. คือ วิกฤติสุขภาพ ,สงคราม.เศรษฐกิจ,สังคม และสิ่งแวดล้อม กับ 7 ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ รายได้ลด,ต้นทุนเพิ่ม-พลังงานแพง,ค่าครองชีพสูง,เงินเฟ้อ-เศรษฐกิจฝืด,หนี้เพิ่ม,คนว่างงานเพิ่มและค่าแรงเพิ่ม-ขาดแรงงานที่มีทักษะนอกจากนี้เอสเอ็มอียังมี 3 ระเบิดเวลาที่กำลังรอระเบิด คือ หนี้ครัวเรือน ,หนี้เสีย และ หนี้นอกระบบ

 

หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น หากเป็นหนี้จากการลงทุน และสามารถดำเนินธุรกิจได้ ไม่มีปัญหา แต่มีสัดส่วนเล็กน้อยที่กู้ได้ แต่หนี้ครัวเรือนที่ด้อยคุณภาพ เป็นโจทย์ใหญ่ของนักการเมืองที่จะต้องหาทางแก้ต่อไป หนี้เสียที่มีแล้ว จะทำอย่างไร จะมีกลไกในการบ่มเพาะให้เขาฟื้นตัวได้อย่างไร ทุกครั้งที่มีการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยฟื้นตัวยาก ค่าครองชีพสูง ค่าพลังงาน เงินเฟ้อ ซ้ำเติมให้เอสเอ็มอีมีหนี้เพิ่ม 
 

 

กระทรวงการคลัง , ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ต้องคิดใหม่ รัฐบาลต้องทบทวนมาตรการการขึ้นดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยขึ้น เท่ากับว่ากลุ่มเปราะบางต้องทำงานเพื่อใช้หนี้เท่านั้น จากการสำรวจพบว่าดอกเบี้ยที่เอสเอ็มอีรับได้อยู่ที่ 8% เมื่อผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนภาครัฐได้ เพราะไม่มีเครดิต ขาดคุณสมบัติ จึงหันไปพึ่งหนี้นอกระบบมากขึ้น ดังนั้นทฤษฏีความเสี่ยงสูง ดอกเบี้ยสูง ไม่ควรมี ควรดูว่าเขามีวินัยทางการเงินอย่างไรมากกว่า

 

ขณะที่แม้ตัวเลขการส่งออกของประเทศไทยที่หลายคนดีใจนั้น กลับไม่มีใครพูดถึงตัวเลขการนำเข้าเกินดุลไปมากอย่างปีที่แล้วประเทศไทยขาดดุลถึง 600,000 ล้านบาท และแม้ตัวเลขการส่งออกมีสัดส่วนของเอสเอ็มอี 13 % ก็ตาม แต่เป็นการส่งออกทางตรงของเอสเอ็มอีเอง แต่เอสเอ็มอีที่เหลือที่ไม่ได้เป็นผู้ส่งออกโดยตรง รัฐบาลจะมีการส่งเสริมอย่างไร

 

"ประเทศไทยมีเอสเอ็มอีที่เป็นภาคการค้าและบริการ 80% มีเอสเอ็มอีภาคการผลิตน้อยมาก ทำอย่างไรจะช่วยยกระดับรายย่อย ควรมีการแบ่งกลุ่มของเอสเอ็มอีเพื่อแก้ปัญหาแต่ละกลุ่มให้ตรงจุด" 

 

นายแสงชัย กล่าวว่า ประเทศต้องการทำ  BCG แต่พบว่า เอสเอ็มอีรู้จัก BCG เพียง 10 % แนวคิดสร้างความยั่งยืน ต้องไม่ทำเฉพาะบริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เท่านั้น ต้องสนับสนุนกับเอสเอ็มอีด้วย เอสเอ็มอีต้องไม่มีทางตัน ไม่ยูเทิร์น ไม่รอไฟแดง ต้องไฟเขียวเท่านั้น ไม่ว่าทางออกจะเป็นทางตรง หรือ ทางอ้อม รัฐบาลต้องหาทางออกให้เขา อย่าดูแคลนว่าเป็นเพียงธุรกิจเล็ก