posttoday

หุ้นไทยร่วงลงแรงจากสัปดาห์ก่อน ส่วนเงินบาทกลับมาอ่อนค่าในรอบ 1 เดือน

12 กุมภาพันธ์ 2566

SET Index ร่วงตลอดสัปดาห์ จากความกังวลต่อทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และผลประกอบการล่าสุดของบจ. บางแห่งน่าผิดหวัง ส่วนเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือน หลังเงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกจากข้อมูลตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และสัญญาณ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและข้อมูลตลาดแรงงานอื่นๆ เดือนม.ค. ของสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่งกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งหนุนแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินต่อเนื่องของเฟด

 

อย่างไรก็ดีเงินบาทลดช่วงอ่อนค่า และฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วน หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดในระหว่างสัปดาห์ มีท่าทีที่แข็งกร้าวน้อยกว่าที่ตลาดกังวล โดยเฉพาะมุมมองที่สะท้อนว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ กำลังชะลอลง

 

โดยมีสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยและยืนดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อจากเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่น ช่วยชะลอแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ไว้บางส่วน ขณะที่ตลาดรอติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในวันที่ 14 ก.พ. นี้ อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยลบจากแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน


ในวันศุกร์ที่ 10 ก.พ. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 33.75 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 33.81 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ในระหว่างสัปดาห์) เทียบกับ 32.96 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (3 ก.พ.)

 

สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 6-10 ก.พ. นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 14,755 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 10,318 ล้านบาท (ขายสุทธิ 443.15 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 9,875 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (13-17 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.20-34.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด

 

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือนม.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและฟิลาเดลเฟีย และดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.พ. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

 

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการเสนอรายชื่อผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ BOJ คนถัดไป ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 ของญี่ปุ่น และยูโรโซน รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจเดือนม.ค.ของจีนด้วยเช่นกัน

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงตลอดสัปดาห์ แต่ยังไม่หลุดแนว 1,600 จุด ท่ามกลางแรงขายต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยปัจจัยลบหลัก ๆ มาจากความกังวลต่อทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค. ของสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่งกว่าตลาดคาด รวมถึงเจ้าหน้าที่เฟดยังคงสนับสนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

 

นอกจากนี้ผลประกอบการไตรมาสล่าสุดของบริษัทจดทะเบียนบางแห่งที่ออกมาน่าผิดหวัง อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และโรงกลั่นน้ำมัน มีส่วนกดดันบรรยากาศการลงทุนในภาพรวมเช่นเดียวกัน     

 

ในวันศุกร์ (10 ก.พ.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,664.57 จุด ลดลง 1.41% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 58,467.07 ล้านบาท ลดลง 9.21% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.09% มาปิดที่ระดับ 606.55 จุด

 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (13-17 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,650 และ 1,635 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,680 และ 1,700 จุด ตามลำดับ

 

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ผลประกอบการงวดไตรมาส 4/65 ของบจ. ไทย รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ

 

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนม.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 ของยูโรโซนและญี่ปุ่น รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน