posttoday

“ผู้ส่งออกตะปูไทย” รอดภาษี AD สหรัฐฯ คาดปี 66 การส่งออกสดใส

08 กุมภาพันธ์ 2566

คต. แจ้งข่าวดี สหรัฐฯ ประกาศการนำเข้าสินค้าตะปู จากไทยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในของสหรัฐ ส่งผลให้ไม่ถูกเก็บอากร AD ชี้เพิ่มโอกาสให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ หันมานำเข้าสินค้าตะปูจากไทยเพิ่มขึ้น

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) แจ้งว่าจากกรณีที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (Department of Commerce: DOC) ได้ประกาศผลการพิจารณาชั้นที่สุดด้านส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดกรณีการไต่สวนการทุ่มตลาด (Antidumping Duty: AD) สินค้าตะปูที่นำเข้าจาก 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินเดีย ศรีลังกา และตุรกี โดยพบว่า บริษัทผู้ส่งออกของไทยมีอัตรา AD ชั้นที่สุดอยู่ระหว่าง 12.61 – 13.90 อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ (United States International Trade Commission : USITC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่พิจารณาประเด็นความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในของสหรัฐฯ ได้ประกาศผลการตัดสินชั้นที่สุดว่า การทุ่มตลาดสินค้าตะปูที่นำเข้าจาก 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินเดีย และตุรกี ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในของสหรัฐฯ จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะถูกกำหนดใช้มาตรการ AD ดังกล่าว

 

ถือเป็นข่าวดีของอุตสาหกรรมตะปูไทยอีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้ ในช่วงปลายปี 2565  คต. ได้ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแก้ต่างการใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) ในกรณีดังกล่าวของสหรัฐฯ จนผู้ส่งออกไทยรอดจากการถูกใช้มาตรการ CVD มาแล้ว 

 

นายรณรงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าการที่ USITC ไม่พบความเสียหายจากการนำเข้าตะปูจากไทย ทำให้ไทยไม่ถูกเรียกเก็บอากร AD ดังกล่าวจากสหรัฐฯ นั้น จะส่งผลให้ไทยยังคงรักษาตลาดตะปูในสหรัฐได้ต่อไป นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างแต้มต่อ และเพิ่มโอกาสให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ หันมานำเข้าสินค้าตะปูจากไทยในปี 2566 มากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติระหว่างปี 2561 - 2565 พบว่าสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสินค้าตะปูที่สำคัญอันดับ 1 ของไทยมาโดยตลอด

 

โดยในปี 2565 มีมูลค่าการส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ อยู่ที่ 3,005 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 88.23 ของการส่งออกตะปูทั้งหมดจากไทย และสำหรับในปี 2565 ช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค. - พ.ย.) สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าตะปูจากไทย คิดเป็นลำดับ 5 รองจาก จีน โอมาน และเกาหลีใต้ หรือคิดเป็น ร้อยละ 6.04 ของการนำเข้าทั้งหมด