posttoday

“นีลเส็น” เปิด 10 เทรนด์สื่อ ที่ต้องจับตา ใน ปี 2566

01 กุมภาพันธ์ 2566

“นีลเส็น” เปิด 10 เทรนด์สื่อทรงพลังในการทำตลาด สร้างแบรนด์สินค้า ในปี 2566 และคาดการณ์คงความร้อนแรงต่อเนื่อง ปี 2567-2568

“นีลเส็น” เปิด 10 เทรนด์สื่อ ที่ต้องจับตา ใน ปี 2566

รัญชิตา ศรีวรวิไล ผู้อำนวยการธุรกิจมีเดีย บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย เผยเทรนด์ที่จะมาแรงสำหรับการทำตลาดหลังโควิดคลี่คลาย มีดังนี้

 

1.Streaming การรับชม เสพเนื้อหา รายการโปรดผ่านวิดีโอออนไลน์ กลายเป็นเรื่องปกติของผู้บริโภคชาวไทย เหมือนกับการดู “ทีวี” ปกติแล้ว โดยการดูรายการเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ตามความต้องการหรือ Video On Demand : VOD

 

ทว่า คนไทย 75% ดูคอนเทนต์ออนไลน์โดยมีโฆษณาแทรกหรือ AVOD และเพียง 25% ที่จ่ายค่าสมาชิกเพื่อดูคอนเทนต์ หนีโฆษณาหรือ SVOD

 

สำหรับ 5 แพลตฟอร์ม ครองใจคนไทย ได้แก่ Facebook Youtube Netflix TrueID และ VIU
นอกจากนี้ คนไทยยังดูรายการสดของช่องทีวีปกติผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆเติบโตถึง 32% ซึ่งรายการเหล่านั้นยังมีโฆษณาแทรกด้วย

 

2.Smart Device คนไทยยังชอบการเชื่อมต่อโลกออนไลน์มากขึ้น แต่ที่น่าสนใจ คือต่างมีอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆเพิ่ม เช่น สมาร์ทโฟนเพิ่ม 20% แท็บเล็ต 586% และสมาร์ททีวี 73% ยังมีสถิติการดู ดูทีวี 2.48 ชั่วโมง(ชม.) ออนไลน์ทีวี 2.7 ชม. มือถือ 3.4 ชม. เพิ่มขึ้น 39% และคอมพิวเตอร์/แล็บท็อป 4 ชม.

 

3.Authentic Content ยุคแห่งการบริโภคคอนเทนต์จริง จริงใจ ไม่เฟกหรือปลอม ผู้บริโภคยุคใหม่จึงเชื่อข้อมูลสินค้า 3 อันดับจาก เว็บไซต์แบรนด์ แบรนด์สปอนเซอร์ และโฆษณาทางทีวี

 

ที่มาแรงคือ “การบอกต่อ” จากคนรู้จัก แม้กระทั่งคนดังบนโลกออนไลน์ อย่าง “อินฟลูเอ็นเซอร์” โดย 75% ของคนไทยเชื่อการรีวิวสินค้า สะท้อนโอกาสแบรนด์

 

4.Influencer คนดัง ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ ยังมาแรงต่อเนื่อง ไทยมีอินฟลูเอ็นเซอร์ราว 2-3 ล้านราย รองจากอินโดนีเซียมี 5 ล้านราย แบรนด์ที่ใช้อินฟลูเอ็นเซอร์ทำตลาดมากสุด คือหมวดสินค้าความงาม(บิวตี้) แพลตฟอร์มที่อินฟลูเอ็นเซอร์ใช้เชื่อมสาวก ได้แก่ Facebook Youtube TikTok Instagram ฯ

 

5.Shoppertainment คนไทยชอบเสพความบันเทิง แต่ยุคนี้สามารถสนุกกับรายการโปรดแล้วซื้อสินค้าได้ด้วย ผ่านทีวีคอมเมิร์ซ โซเชียลคอมเมิร์ซ การไลฟ์สด ฯ ขณะที่ไลฟ์สตรีมมิ่งขายสินค้ามาแรง โดยผู้บริโภค 20% ยอมจ่ายเงินเมื่อดูไลฟ์ขายสินค้า

 

6.Digital Audio วิทยุไม่ตาย แค่ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการรับฟังไปยังแพลตฟอร์มใหม่ๆ ทั้งสตรีมมิ่ง แอปพลิเคชั่นของรายการต่างๆ โดย 3 ปีที่ผ่านมา คนไทยถึง 55% ฟังวิทยุสตรีมมิ่งโต 57% ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อมวิถีชีวิตชุมชน หรือโลคัล ทำให้แบรนด์สามารถทำตลาดเจาะกลุ่มเป้าหมายท้องถิ่นได้ลึกขึ้น

 

7.Advertising โฆษณาแสนล้าน อาจหดตัวจากอดีต แต่ “พลัง” ของการโฆษณายังคงอยู่ และเป็นกุญแจช่วย “สร้างยอดขาย” ให้กับแบรนด์ได้ เนื่องจากคนไทย 69% ยังซื้อสินค้าเมื่อเห็นโฆษณา แยกรายสื่อ เช่น 40% ซื้อสินค้าเมื่อเห็นโฆษณาผ่านดิจิทัล , 37% เห็นโฆษณาทางทีวีแล้วควักเงิน เป็นต้น

 

8.Sport Marketing โควิดทำให้การจัดแข่งขันกีฬาใหญ่ๆเกิดขึ้นไม่ได้ หรือเลื่อนออกไป เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย กลับมาดึงคนดูได้อีกครั้ง ในไทยมีคอกีฬา 31.9 ล้านราย หรือ 62% ของประชากร โดย 4 กีฬาฮิตครองใจ ได้แก่ ฟุตบอล วอลเลย์บอล แบดมินตัน และมวยไทย ช่วงนี้จึงเป็น “นาทีทอง” หรือ Golden Period ในการทำตลาดเชิงกีฬาหรือ Sport Marketing เพราะคนไทย 85% พร้อมซื้อสินค้าที่แบรนด์สนับสนุนรายการกีฬา

 

9.Measurement ยุคดิจิทัล สื่อมีความแตกกระจายหลากหลายแพลตฟอร์ม แบรนด์ทุ่มงบโฆษณาต้อง “วัดผล” ได้ เพื่อให้รู้ว่าคุ้มค่าการลงทุนหรือได้ ROI กลับมากี่มากน้อย ทว่า ในการทำสื่อสารการตลาดพบว่า 37% ของงบโฆษณาถูกใช้ไป “สูญเปล่า” สื่อสารเจาะ “ผิดกลุ่มเป้าหมาย” นักการตลาดจึงห้ามมองข้ามการวัดผลลัพธ์

 

10.Privacy Controls นโยบายความเป็นส่วนตัว เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคคนไทย ระวัง” อย่างยิ่ง และกลายเป็นเรื่อง Need To Have สำหรับแบรนด์ นักการลาด ผลสำรวจของ “นีลเส็น” พบว่า 80% ของคนไทยมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายความเป็นส่วนตัว ไม่อยาก “อนุญาต” ให้มีการติดตามพฤติกรรม เก็บข้อมูล มีเพียง 19% ที่ยินดีอนุญาต