posttoday

ธ.ก.ส. ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125-0.25% มีผลตั้งแต่ 1 ก.พ. 66

27 มกราคม 2566

ธ.ก.ส. ประกาศปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.125 – 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 66

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 จนถึงครั้งล่าสุดในวันที่ 25 มกราคม 2566 รวมการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จำนวน 4 ครั้ง จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี มาอยู่ที่ 1.50% ต่อปีในปัจจุบัน ตามการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทย  

 

ทั้งด้านการอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว ซึ่ง ธ.ก.ส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีบทบาทในการดูแลภาคการเกษตรและการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความเข้มแข็ง ได้ทำการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามนโยบายกระทรวงการคลังออกไปให้นานที่สุด เพื่อช่วยลดภาระให้เกษตรกรและผู้ประกอบการให้สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติในช่วงการฟื้นตัวหลังจากเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ขณะเดียวกันได้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อให้ผู้ฝากได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมตามภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาด

 

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดและการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทย ธ.ก.ส. ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทเพิ่มขึ้น  0.125 - 0.25% ต่อปี ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายคนชั้นดี (MRR) ปรับเพิ่มขึ้น 0.125% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 6.50% เป็น 6.625% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบันและนิติบุคคลชั้นดี (MLR) ปรับเพิ่มขึ้น 0.25% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 4.875% เป็น 5.125% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับเพิ่มขึ้น 0.25% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 6.25% เป็น   6.50% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป

 

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ยังมีโครงการชำระดีมีคืน สำหรับลูกหนี้ที่ชำระหนี้ได้ตามปกติ และมีมาตรการในการดูแลและช่วยเหลือลูกค้าที่มีปัญหาหนี้สินแบบครบวงจร ประกอบด้วย การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เช่น มาตรการจ่ายดอกตัดต้น มาตรการจ่ายน้อย ผ่อนคลายได้ลดดอกเบี้ย และมาตรการทางด่วนลดหนี้ เป็นต้น เพื่อลดความกังวลใจในเรื่องหนี้ การให้คำปรึกษาด้านการจัดการหนี้ ทั้งในและนอกระบบ ควบคู่กับการเติมสินเชื่อใหม่ ภายใต้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน อันนำไปสู่การสร้างงาน