posttoday

สรรพากรขยายเวลามาตรการภาษี หนุนเอกชนเข้าระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ถึงปี68

25 มกราคม 2566

ครม. ไฟเขียวขยายระยะเวลามาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง e-Tax Invoice & e-Receipt ให้หักรายจ่ายได้ 2 เท่า และระบบ e-Withholding Tax ลดภาษีเงินได้เหลือ 1% อีก 3 ปี ถึงสิ้น 31 ธ.ค.68

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี   มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลามาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 2 มาตรการ เพื่อให้ภาคเอกชนใช้ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt และระบบ e-Withholding Tax อย่างแพร่หลายในการทำธุรกรรมระหว่างกันและการทำธุรกรรมกับภาครัฐ อันจะส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและการแปลงเป็นดิจิทัล       (Digital Transformation) ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

 

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีและการให้บริการผู้เสียภาษี รวมถึง      การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร  ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้   ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) ดังนี้

 

1. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ให้บริษัทหรือ         ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายการลงทุนในระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt และระบบ e-Withholding Tax รวมถึงหักรายจ่ายค่าบริการระบบดังกล่าวได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายจริง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566   ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568

 

2. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) โดยลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่มีอัตราร้อยละ 5 อัตราร้อยละ 3 และอัตราร้อยละ 2 เหลืออัตราร้อยละ 1 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e-Withholding Tax ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่  31 ธันวาคม 2568”

 

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรการดังกล่าวจะเป็นการช่วยภาคเอกชน                      ในการลดต้นทุนและลดภาระในการจัดทำและการจัดเก็บเอกสาร รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษี ยิ่งไปกว่านั้น     ยังช่วยให้ผู้ประกอบการมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาดำเนินมาตรการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย   ปีละประมาณ 9,800 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นเม็ดเงินที่หมุนเวียนเพิ่มมูลค่าให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป