posttoday

อาคม ชี้เร่งใช้นโยบายการเงิน-คลัง ฟื้นศก. มุ่งหารายได้ชำระหนี้ที่พุ่งสูง

19 มกราคม 2566

อาคม ระบุบนเวที WEF หลังโควิดคลี่คลาย คลังมุ่งปรับช่องทางจัดเก็บรายได้เพิ่ม เพื่อมาชำระเงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท ที่เกิดจากการแก้ไขปัญหา-เยียวยาโควิด จนทำให้หนี้สาธรณะเพิ่มสูงขึ้น พร้อมแนะในช่วงเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รัฐควร ลด หรือ เลิกมาตรการประชาชนิยมที่ไม่จำเป็น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมการเสวนา ในหัวข้อ " Fiscal Expansion: A Welcome Return or Tickiชี้ng Bomb?"  กับ Mr. Raghuram G. Rajan ผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย Miss Gita Gopinath, First Deputy Managing Director กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และ Mr. Paolo Gentiloni  ประธานกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ สหภาพยุโรป ในโอกาสเข้าร่วมประชุม World Economic Forum 2023 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถึง การบริหารจัดการนโยบายการเงินการคลัง โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลได้มีการกู้ยืมถึง 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดดังกล่าว และเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งการรักษาเสถียรภาพในนโยบายการเงินทำให้นโยบายการคลังสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดี การกู้ยืมดังกล่าวทำให้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น
 

 

หลังจากแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้คลี่คลายลง การดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังได้กลับมาสู่ภาวะปกติอีกครั้ง กล่าวคือ มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ และมุ่งเน้นการชำระหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น

 

ส่วนการใช้มาตรการด้านการคลังนั้น ยังคงเป็นไปเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยพิจารณาการรักษาดุลการคลังประกอบไปด้วย ทั้งนี้ มีเป้าหมายให้ดุลการคลังอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 3 จึงต้องพัฒนาจัดเก็บรายได้ และปฏิรูปภาษีไปพร้อมกันด้วย อาทิ การขยายฐานภาษีเงินได้ การริเริ่มภาษีธุรกรรมทางการเงิน และภาษีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำถึงการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารกลาง เช่น การกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อร่วมกัน โดยยังคงต้องรักษาเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้น โดยสิ่งที่ควรได้รับการพิจารณาอย่างระมัดระวังคือ การลดหรือเลิกมาตรการประชานิยมที่ไม่มีความจำเป็นแล้ว โดยเป็นไปตามกฎหมายด้านการเงินการคลัง