posttoday

ธนารักษ์ เดินหน้า "โครงการพัฒนาท่าเรือสงขลา" ตั้งเป้าเสร็จภายใน 2 ปี

10 มกราคม 2566

กรมธนารักษ์ เดินหน้า โครงการพัฒนาท่าเรือสงขลา บนที่ราชพัสดุ หลังครม.เห็นชอบร่างสัญญาร่วมทุนเอกชน ขณะที่ “บ.เจ้าพระยาท่าเรือสากล” เป็นผู้ชนะประมูล โดยเสนอผลตอบแทนสูงกว่าที่ครม.เห็นชอบ 34% ตั้งเป้าแล้วเสร็จภายใน 2 ปี

นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุน (โดยวิธีการอนุญาต) สำหรับโครงการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือสงขลา       บนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ สข.1029 และ สข.1030 ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เนื้อที่รวม 78 - 2 - 96.2 ไร่ ซึ่งท่าเรือสงขลาเป็นท่าเรือที่สำคัญของประเทศไทยในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อใช้ในการนำเข้าและส่งออกสินค้าในทางภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย รวมทั้งเป็นฐานในการขนส่งสินค้าทางน้ำที่สำคัญของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ เพื่อนำเข้า-ส่งออกสินค้าภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งโครงการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือสงขลา จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการ และเพิ่มรายได้ และขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น

 

นอกจากผลดีในภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังส่งผลดีต่อภาคการเกษตรกรรม เช่น ยางพารา ไม้ยาง การประมงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น อีกทั้งเป็นการเพิ่มการจ้างงานในท้องถิ่น
 

 

นายจำเริญ กล่าวต่อว่า บริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด   โดยมีมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์ตอบแทน (NPV) สูงกว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ครม. ให้ความเห็นชอบ ในหลักการของโครงการตามผลการศึกษาของกรมธนารักษ์ จากเดิมกว่า 34.44% และบริษัทฯ มีแผนการลงทุนพัฒนาปรับปรุงท่าเรือสงขลา ประกอบด้วย การลงทุนเพื่อปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกท่าเรือ (Port Facilities) ได้แก่ การปรับปรุงท่าเรือเพื่อติดตั้งปั้นจั่นและปรับผังท่าเรือ การลงทุนติดตั้งและจัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์ท่าเรือ ประกอบด้วย เครื่องจักรอุปกรณ์หลัก อาทิ ปั้นจั่นหน้าท่าจำนวน 3 หน่วย รถยกตู้สินค้าหนัก รถยกตู้สินค้าเปล่า รถยกทั่วไป เรือลากจูง จำนวน 2 ลำ และเครื่องจักรและอุปกรณ์สนับสนุนอื่น ๆ พัฒนาระบบการขนถ่ายจัดวาง ตู้คอนเทนเนอร์บนลานรับฝากตู้คอนเทนเนอร์ ติดตั้งระบบรถคานเคลื่อนที่ยกตู้สินค้า (Rubber Tyred Gantry Crane : RTG)   เพิ่มจำนวน 6 คัน ทดแทนระบบรถยกตู้คอนเทนเนอร์บางส่วน เป็นต้น 

 

นายจำเริญ กล่าวเพิ่มเติมต่อว่า การลงทุนพัฒนาปรับปรุงท่าเรือสงขลาดังกล่าว จะทำให้สามารถรองรับสินค้าผ่านหน้าท่าได้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณ 2 ล้านตัน เป็นปริมาณมากกว่า 3.8 ล้านตัน มีจำนวนตู้สินค้าประมาณ 180,000 TEU (ตู้สินค้าที่มีขนาด 20 ฟุต) เพิ่มเป็นมากกว่า 450,000 TEU โดยรัฐบาลต้องการให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ซึ่งการดำเนินโครงการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือสงขลาบนที่ราชพัสดุแห่งนี้ เป็นโครงการที่สอดคล้อง และดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านการสร้างรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 

 

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่าในฐานะผู้ดูแล และบำรุงรักษาร่องน้ำจะได้ดำเนินการรักษาความลึกร่องน้ำท่าเรือสงขลาตามหน้าที่และอำนาจภายใต้ภารกิจของกระทรวงคมนาคมต่อไป