posttoday

สรท. ชี้ ส่งออกไตรมาส 1 ปี66 ยังโตแผ่ว ผลจากบาทแข็งค่าเร็ว คาดทั้งปีโต 1-3%

10 มกราคม 2566

สรท. ประเมินเงินบาทแข็งค่ารวดเร็ว ดึงส่งออกไทยไตรมาส 1 ปี 2566 ยังโตแผ่ว ขณะที่ทั้งปี โตเพียง 1-3% เหตุจากหลายปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า วอน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการกระตุ้น อุ้มผู้ส่งออกสู้ พิษเศรษฐกิจชะลอตัว

วันที่ 10 มกราคม 2565 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า  สรท. ประเมินว่า ภาวะการส่งออกของไทยในปี 2565 เติบโต 6-6.5%  และทั้งปี 2566 ขยายตัว 1-3%  หรือมีมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  โดยการส่งออกไตรมาส 1 ของปีนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวล เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกไทยอย่างมาก ซึ่งคาดว่าจะกลับมาดีขึ้นหลังจากนี้  

 

ขณะที่ ปัจจัยบวกอื่นๆ มาจากสินค้าอุตสาหกรรมหลายกลุ่มของไทยขยายตัวไปในทิศทางที่ดี ทั้งกลุ่มอาหาร น้ำตาล อิเล็กทรอนิกส์  เป็นต้น  ขณะที่  ปีนี้จะไม่มีปัญหาเรื่องของค่าระวางเรือ เรือขนส่ง ให้กังวลเนื่องจากราคาขนส่งลดลง เรือมีเพียงพอ 

 

ส่วนปัจจัยที่เป็นอุปสรรค์ต่อการส่งออกในปี 2566 

1 เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนรุนแรงแบบไม่มีทิศทางที่ชัดเจน 

2 สถานการณ์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) อาจมีการชะลอหรือลดขนาดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Rate) ลง ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเข้ามาที่ไทยมากขึ้นเป็นเท่าตัว 

3 ดัชนีภาคการผลิต PMI ในตลาดส่งออกสำคัญเริ่มชะลอต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนกำลังการผลิตและความต้องการของประเทศคู่ค้า 

4 ราคาพลังงานที่เป็นต้นทุนหลัก ยังคงมีความผันผวนจากสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตโดยรวมทั่วโลกปรับขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจยังมี ปัจจัยบวกอื่นๆ ที่มาจากสินค้าอุตสาหกรรมหลายกลุ่มของไทยขยายตัวไปในทิศทางที่ดี ทั้งกลุ่มอาหาร น้ำตาล อิเล็กทรอนิกส์  เป็นต้น  ขณะที่  ปีนี้จะไม่มีปัญหาเรื่องของค่าระวางเรือ เรือขนส่ง ให้กังวลเนื่องจากราคาขนส่งลดลง เรือมีเพียงพอ
 

 

ทั้งนี้  สรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ 

1.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ รวมถึงพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF (มาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เพื่อลดต้นทุนของสถาบันการเงิน) เป็น 0.46 จากที่ลดลงไป 0.23 ในช่วงสถานการณ์โควิด ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการในทุกระดับ โดยเฉพาะ SMEs 

 

2. ขอให้ช่วยชะลอหรือกำกับดูแลมาตรการภาครัฐใหม่ หรือยกเลิกมาตรการเดิมที่เป็นเหตุให้มีการเพิ่มต้นทุนกับผู้ประกอบการ/ผู้ผลิต ให้น้อยลง เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระด้านต้นทุนให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาระดับราคาสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภค เช่น กำกับดูแลค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน (น้ำมัน) และค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น 

 

3.สนับสนุนและเร่งรัด ความต่อเนื่องของการเจรจา FTA อาทิ TH-EU / TH-GCC (กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง)

 

4. ขอให้เร่งขยายมาตรการ Soft power สินค้าอัตลักษณ์ไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและสามารถสร้างโอกาสในการขยายตลาดใหม่มากขึ้น  เพื่อให้การส่งออกภาพรวมของไทยในปีนี้มีการเติบโตไปได้ตามเป้าหมาย