posttoday

โอทีที ต่างชาติเตรียมตัวต้องจดแจ้งให้บริการตามกฎหมาย เริ่ม 20 ส.ค.นี้

06 มกราคม 2566

แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติ เตรียมตัวจดแจ้งการประกอบธุรกิจในประเทศไทยตาม พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคหากเกิดปัญหาให้บริการไม่เป็นธรรม

ปัญหาการซื้อขายออนไลน์จากแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่ประเทศไทยไม่สามารถหาข้อกฎหมายในการเอาผิดได้ เพราะไม่มีการจดทะเบียนในประเทศไทย ทำให้รัฐบาลต้องออก พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลทุกประเภทต้องเข้ามาจดแจ้งข้อมูลบริษัทที่สำคัญรวมถึงช่องทางร้องเรียนเมื่อเกิดปัญหาในการให้บริการกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งขณะนี้กฎหมายได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2565 และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 240 วัน นั่นคือจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่  20 ส.ค. 2566 นั่นเอง

 

ต่อเรื่องนี้ “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวทำให้ ไลน์,เฟซบุ๊ก,ช้อปปี้,ลาซาด้า,เน็ตฟลิก และแกร็บ เป็นต้น ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ หรือ โอทีที ต้องเข้าเกณฑ์มาจดแจ้งการประกอบธุกิจในประเทศไทยตามกฎหมายด้วย การให้บริการดังกล่าวมีหลากหลายลักษณะประเภทธุรกิจ ทั้ง Online Marketplaces, Social Commerce, Food Delivery, Space sharing, Ride/Car Sharing, Online Search Engines, App Store นั้นล้วนมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น 
 

 

ดังนั้นจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลเพื่อให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการให้บริการ รวมทั้งคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มฯ ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มฯ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีหรือกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสม รวมทั้งป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชนด้วย

 

“นอกจากนี้ยังรวมถึงแพลตฟอร์มขายลอตเตอร์รี่ออนไลน์ด้วย เพราะนับเป็นอี-คอมเมิร์ซอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องยอมรับว่าการขายลอตเตอร์รี่ออนไลน์ไม่ปิด ไม่ว่าจะเป็น กองสลากพลัส หรือ รายไหนก็ตาม ซึ่งจะเข้าข่ายความผิดได้ก็ต่อเมื่อมีการขายเกินราคา หรือ ไม่มีสินค้าจริง แต่หากถูกตรวจสอบกรณีเข้าข่ายฟอกเงินต้องให้เป็นหน้าที่ของดีเอสไอและเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนและตรวจสอบเรื่องนี้ หากมีการทำความผิดตาม ก.ม.จริง ก็สามารถเสนอมาทางดีอีเอสเพื่อขอคำสั่งศาลให้ปิดแพลตฟอร์มได้ “


 

สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลตามก.ม.ระบุว่า แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่  1. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในราชอาณาจักรเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นบุคคลธรรมดา 2. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในราชอาณาจักรเกิน 50 ล้านบาทต่อปี ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคคล และ 3. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีจำนวนผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในราชอาณาจักรเกิน 5,000 รายต่อเดือน

 

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ก็ได้ยกเว้นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ โดยแบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่ 1. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เช่น e-Payment Platform ต่างๆ เป็นต้น 2. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ 3. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการโดยหน่วยงานของรัฐที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าโดยตรง หรือไม่เป็นการให้บริการที่มีลักษณะเพื่อแสวงหากำไรเป็นหลักและได้แจ้งให้ ETDA ทราบแล้ว เช่น แพลตฟอร์มในการบริการยื่นภาษี เป็นต้น
 

 

ส่วนข้อมูลที่ต้องจดแจ้งประกอบด้วย ชื่อบริการแพลตฟอร์ม ประเภทบริการแพลตฟอร์ม และช่องทางการให้บริการ และข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสานงานในราชอาณาจักรในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักรเพื่อให้ ETDA ทราบ นอกจากนี้ ยังต้องแจ้งข้อมูลรายปีสำหรับมูลค่าการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการให้บริการ ตลอดจนจำนวนรวมของผู้ใช้บริการและจำนวนของผู้ใช้บริการแต่ละประเภทอีกด้วย

 

หากเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่ ต้องมีแผนเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยง และมีมาตรการการบริหารและจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามความเหมาะสมของบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้น ๆ เนื่องจากแพลตฟอร์มเหล่านี้มักจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมประเทศได้