posttoday

สรรพากร เตรียมนำ “พร้อมบิส” ขยายฐานภาษี เล็งใช้กลางปีหน้า

03 มกราคม 2566

กรมสรรพากร-ธปท. เตรียมนำระบบเพย์เม้นท์ “พร้อมบิส” เชื่อมระบบชำระภาษี โดยวางแผนนำมาใช้กับภาคธุรกิจในกลางปี 2567 เพื่อขยายฐานการชำระภาษีเงินได้จากภาคธุรกิจ พร้อมศึกษาการเชื่อมกับระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

การชำระภาษีเงินได้จากภาคธุรกิจ ขณะเดียวกัน กำลังศึกษาเชื่อมกับระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภายใต้แผนปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับรัฐบาล หนึ่งในกรมจัดเก็บที่ต้องมีการปฏิรูปรายได้ คือ กรมสรรพากร เพราะถือเป็นหน่วยงานหลักในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยมียอดจัดเก็บคิดเป็นกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมดของรัฐบาล ดังนั้น กรมฯ จึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพการขยายฐานภาษี

 

นาย ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ระบบเพย์เมนท์ ที่เรียกว่า พร้อมบิส(Prompt Biz)  ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมนำมาใช้ในกลางปีหน้านั้น นอกจากจะเปลี่ยมโฉมการชำระเงินของภาคธุรกิจแล้ว ยังจะเปลี่ยนโฉมการชำระภาษีในภาคธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญของกรมสรรพากรอีกด้วย โดยเรามีแผนที่จะนำระบบ e-Tax Invoice เข้าไปเชื่อมกับระบบพร้อมบิส ซึ่งเราได้หารือกับธปท.เรียบร้อยแล้ว

 

ระบบการชำระเงินพร้อมบิส ดังกล่าว ถือเป็นระบบการชำระเงินที่ใหญ่มาก เพราะจะมีข้อมูลตั้งแต่คำสั่งซื้อ คำสั่งขาย และ ส่งข้อมูลกันแบบเรียลไทม์ ภาคธุรกิจที่เข้าระบบดังกล่าว จะมีต้นทุนการชำระเงินที่ถูกลง เมื่อเรานำระบบชำระเงิน e-Tax Invoice เข้าไปเชื่อมแล้ว จะทำให้เราสามารถรู้ถึงข้อมูลของภาคธุรกิจนำไปสู่การชำระภาษีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ทั้งนี้ เมื่อการเชื่อมข้อมูลดังกล่าว นำไปสู่ประสิทธิภาพในการชำระภาษี ก็หมายความว่า ความผิดพลาดในการเสียภาษีก็จะน้อยลง ทำให้ภาคธุรกิจไม่ต้องพบกับข้อพิพาทกับกรมสรรพากรในเรื่องที่ต้องเสียเบี้บปรับเงินเพิ่มต่างๆ นอกจากนี้ ภาคธุรกิจใดที่เข้าสู่ระบบการชำระภาษี e-Tax Invoice ผ่านระบบการชำระเงินแบบพร้อมบิส การคืนภาษีจะไม่ตรวจด้วยคน แต่ระบบจะตรวจสอบให้ ซึ่งจะทำให้การคืนภาษีเร็วมาก ยกตัวอย่าง จากเดิมการคืนภาษีแวตจะใช้เวลามากกว่า 6 เดือน จะเปลี่ยนเป็นภายใน 7 วันเท่านั้น
ดังนั้น อะไรที่เป็น Pain point ของกรมสรรพากร เช่น คืนภาษีช้า ก็จะหมดไป ต่อไปเราจะคืนภาษีแวตไม่เกิน 7 วัน จากปัจจุบันกว่า 6 เดือน เพราะผู้ประกอบการที่ขอคืนแวตมีจำนวนมาก

 

ปัจจุบัน ภาคธุรกิจที่ใช้ระบบ e-Tax Invoice น้อยมาก โดยนิติบุคคราว 5 แสนราย ใช้ระบบดังกล่าวกว่า10% เท่านั้น เมื่อเรามาดูสาเหตุ ก็พบว่า เป็นเรื่องยาก ต้นทุนสูง ภาคธุรกิจจะต้องลงทุนระบบซอฟแวร์ทางบัญชีต่างๆ ขณะเดียวกัน ในฝั่งของกรมฯนั้น ก็พบปัญหาเช่นการตรวจหน้าบ้านในระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่หลังบ้านกลับใช้ระบบกระดาษ ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงไม่อยากเข้าระบบดังกล่าว เนื่องจากจะต้องทำทั้งสองระบบ นี่คือปัญหาที่เราต้องเข้าไปแก้

 

อย่างไรก็ตาม กรมฯได้หารือกับผู้ประกอบการรายใหญ่หลายกลุ่ม เพื่อเชิญชวนให้เข้าสู่ระบบ e-Tax Invoice ซึ่งเขายินดีที่จะเป็นผู้นำร่องระบบการชำระภาษีดังกล่าวให้ ส่วนรายกลางและรายเล็กน้อย เชื่อว่า ในระยะต่อไปเขาจะเข้าระบบเอง โดยเฉพาะในส่วนที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจค้าปลีก

 

ทั้งนี้ กรมฯจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจ โดยการปรับเกณฑ์การเป็น Service provider ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่ผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวกับ e-Tax invoice และ e-Receipt  แก่กรมสรรพากร แต่ต่อไป จะสามารถทำหน้าที่เพิ่มเติมได้ ประกอบด้วย การบัญชี การชำระภาษี และ การชำระเงิน

 

สำหรับการขยานฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น เขากล่าวว่า กรมฯกำลังหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือสศค.เพื่อเชื่อมระบบข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้ากับระบบการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรมฯ เมื่อเชื่อมสองระบบเข้าด้วยกัน จะทำให้ระบบสวัสดิการกับระบบการจ่ายภาษีเป็นระบบเดียวกัน ซึ่งจะมีความชัดเจนในปีหน้า

 

ปัจจุบัน เรามีระบบการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งใหญ่มาก มีคนอยู่ในระบบกว่า 10 ล้านคน ถ้าเราเอาระบบสวัสดิการเข้ามาเพิ่มอีกกว่า 30 ล้านคน จากยอดลงทะเบียนล่าสุด ซึ่งอาจจะคัดกรองเหลือซัก16-19 ล้านคน เราอาจจะมีฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้ เมื่อเชื่อมสองระบบเข้าด้วยกันแล้ว จะเรียกว่า ระบบภาษีเงินได้แบบติดลบ หรือ Negative Income Tax ซึ่งเป็นนโยบายให้เงินช่วยเหลือบุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งตามปกติจะต้องเข้าระบบภาษีและยื่นภาษีเหมือนผู้มีรายได้ทั่วไปด้วย