posttoday

รวมดีลโทรคมนาคมมาแรงต้อนรับปีเถาะ คาดปิดดีลไตรมาสแรกปี 2566

02 มกราคม 2566

การควบรวมกิจการทรู-ดีแทค และการซื้อกิจการ 3BB ของเอไอเอส รวมถึง การขายหุ้นไทยคมอยู่ภายใต้ร่มเงาของ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ฯ จะเข้ามาเปลี่ยนภาพตลาดโทรคมนาคมอย่างสิ้นเชิง หรือไม่

ในปี 2565 มีดีลควบรวมกิจการและซื้อกิจการในแวดวงโทรคมนาคมที่คาดว่าจะจบดีลภายในไตรมาสแรกปี 2566 ดังนี้

 

บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ควบรวมกิจการ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ดีลประวัติศาสตร์นี้จะใช้เวลายาวนานเกือบ 1 ปี ด้วยการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อ 20 พ.ย. 2564 กว่าจะทำให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ดกสทช.) มีมติ รับทราบ การควบรวมกิจการดังกล่าว วันที่ 20 ต.ค. 2565 ภายใต้การออกมาตรการดูแลการควบรวมกิจการไม่ให้กระทบต่อประชาชนและวงการโทรคมนาคม ภายใน 90 วัน หลังมติกสทช.แจ้งหากทั้งทรูและดีแทคไม่มีการอุทธรณ์มาตรการเยียวยา ก็จะสามารถดำเนินการควบรวมได้ แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขสำคัญคือ ห้ามรวมคลื่นความถี่ทั้ง 2 ค่าย เข้าด้วยกัน เพื่อป้องกันการมีอำนาจเหนือตลาด

 

แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ในภาพรวมก็ทำให้ทรูและดีแทค มีลูกค้ารวมกันอยู่ที่ 54.7 ล้านเลขหมาย จากตัวเลขผู้ใช้บริการไตรมาส3/2565 ทรูมีลูกค้า 33.6 ล้านเลขหมาย ดีแทค มีลูกค้า 21.1 ล้านเลขหมาย ขณะที่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) มีผู้ใช้บริการ 45.7 ล้านเลขหมาย 
 

 

ขณะที่เอไอเอสเอง ก็มีแผนในการขยายตลาดบรอดแบนด์ด้วยการประกาศซื้อกิจการ บมจ.ทริปเปิลทีบรอดแบนด์ หรือ 3BB และซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ย.2565 ที่ผ่านมา เอไอเอส ก็ดำเนินการส่งหนังสือเพื่อขออนุญาตสำนักงาน กสทช. ซึ่งหนังสือดังกล่าวอยู่ที่สำนักงานกสทช.แล้ว ระหว่างนี้ภายใน 90 วัน หากเอกสารที่ยื่นไม่มีปัญหาและครบตามที่กสทช.ต้องการ กสทช.จะดำเนินการเสนอให้บอร์ดกสทช.พิจารณาต่อไป ต้องรอลุ้นว่าหนังสือดังกล่าวจะเข้าวาระการประชุมบอร์ดกสทช.เมื่อไหร่

 

การพิจารณาดีลนี้เป็นอำนาจเต็มของกสทช.เพราะกิจการบรอดแบนด์อยู่ภายใต้ใบอนุญาตของกสทช.และคาดว่าดีลนี้จะไม่มีปัญหายืดเยื้อเหมือนดีลทรูและดีแทคเพราะทั้งสองบริษัทเป็นการควบรวมกิจการบริษัทแม่ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ใบอนุญาตของกสทช. และผู้ให้บริการบรอดแบนด์ในตลาดมีมากกว่า 10 ราย แต่สิ่งที่กสทช.ต้องพิจารณาคือ ค่าดัชนีการกระจุกตัว หรือ HHI เกินเกณฑ์ของ กสทช. ทำให้เกิดการกระจุกตัวของตลาดมากน้อยแค่ไหน 
 

 

เมื่อดีลนี้สำเร็จจะทำให้เอไอเอสมีลูกค้า 4.9 ล้านราย (ผลประกอบการไตรมาส3/2565) จากเดิมที่มีอยู่เพียง 2.1 ล้านราย ขณะที่ 3BB มีลูกค้า 2.8 ล้านราย ทำให้มีลูกค้าเท่ากับ ทรูฯ ซึ่งมีลูกค้า 4.9 ล้านราย ส่วน บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ผู้เล่นรายใหญ่อีกราย มีลูกค้า 1.93 ล้านราย

 

สุดท้ายคือ ดีล บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ จำหน่ายหุ้นใน บมจ. ไทยคม ที่บริษัทถืออยู่จำนวนทั้งสิ้น 450,870,934 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 41.13  ให้กับกลุ่มบมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์  ในราคาหุ้นละ 9.92 บาท มูลค่ารวม 4.47 พันล้านบาท พร้อมเดินหน้าประมูลวงโคจรดาวเทียมสัญชาติไทยเต็มสูบ

 

3 ดีล ดังกล่าว นับเป็นดีลใหญ่ในตลาดโทรคมนาคมทั้งบริการโทรศัพท์มือถือ,บริการบอร์ดแบนด์ และ บริการดาวเทียม ที่จะอยู่ในอำนาจของบริษัทใหญ่เบอร์หนึ่งในประเทศไทยทั้งสิ้น นับจากนี้จะเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจโทรคมนาคมอย่างไรบ้างต้องติดตาม