posttoday

ดีอีเอส คาดปี 2566 ประชาชนใช้ Digital ID พุ่ง 10 ล้านคน

23 ธันวาคม 2565

รมว.ดีอีเอสเร่งเครื่องดันประชาชนใช้ Digital ID แทนบัตรประชาชน 10 ล้านคนในปี 2566 พร้อมจับมือ 6 หน่วยงาน สร้างกรอบการทำงานร่วมกันเพื่อให้ประชาชนใช้ระบบเดียวยืนยันได้ทุกหน่วยงาน มั่นใจช่วยลดการถูกสวมรอยโดยมิจฉาชีพ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ปี 2566 คาดว่าจะมีประชาชนใช้ Digital ID หรือ คิวอาร์โค้ดแทนบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 10 ล้านคน เนื่องจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้พัฒนาระบบการทำ Digital ID พร้อมให้บริการประชาชนทุกเขตทั้งแบบออฟไลน์และอนาคตจะสามารถทำ Digital ID ได้แบบออนไลน์

 

สำหรับความสำคัญของ Digital ID จะเข้ามาแทนที่การยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน ซึ่งไม่มีความปลอดภัย เพราะมิจฉาชีพสามารถเห็นข้อมูลหน้าบัตรของประชาชนได้ ไม่ว่าจะเป็นการแลกบัตร การติดต่อหน่วยงาน หรือ การใช้ประกอบการทำธุรกรรมการเงิน หรือ ธุรกิจต่างๆ ดังนั้นจะช่วยลดการปลอมแปลงบัตรประชาชน หรือสวมรอยเป็นคนอื่นได้
 

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กรมการปกครอง และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ทำ Digital ID ในกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ มีผู้ใช้งานประมาณหลักแสนคน ขณะที่ Digital ID กลุ่มธนาคาร ที่ทำโดย บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด มีผู้ใช้ประมาณ 5 ล้านคน

 

ทว่า Digital ID ทั้ง 3 แบบ ยังไม่เชื่อมโยงกัน ประชาชนต้องแสดงคิวอาร์โค้ดแยกกันอยู่ ดังนั้นหน้าที่ของกระทรวงดีอีเอส คือต้องทำให้ Digital ID ของทุกหน่วยงานเชื่อมโยงกัน ใช้เพียงคิวอาร์โค้ดเดียวก็สามารถยืนยันตัวตนได้ทุกหน่วยงาน

 

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า กระทรวงดีอีเอส โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) จึงได้จับมือ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการปกครอง, กรมสรรพากร, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, สำนักงาน กสทช., บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด จัดทำ “กรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 พ.ศ. 2565 - พ.ศ. 2567” หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “Digital ID Framework” ขึ้น

 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นกรอบแนวทางของประเทศในการบูรณการความร่วมมือและการขับเคลื่อนงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้แผนปฏิบัติการที่จะช่วยเร่งผลักดันให้การดำเนินงานบรรลุผลสำเร็จ สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการใช้งานของประชาชน ภาคธุรกิจและภาครัฐ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ Digital ID Framework พร้อมจัดทำโครงการและดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบที่กำหนดแล้ว
 

 

Digital ID framework ในระยะที่ 1 นี้ มีทั้งหมด 8 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.มี Digital ID ที่ครอบคลุม คนไทย นิติบุคคล และคนต่างชาติ พร้อมต่อยอดใช้งานทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ 2.ประชาชน สามารถใช้ Digital ID ที่เหมาะสม เข้าถึงบริการออนไลน์ได้ 3.กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักที่ให้ข้อมูลและบริการ สนับสนุนการพิสูจน์ตัวตนคนไทยและคนต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ในไทย

 

4.ใช้ Digital IDในการทำธุรกรรมของนิติบุคคลเป็นการใช้ Digital ID บุคคลธรรมดาของผู้มีอำนาจของนิติบุคคลนั้น ร่วมกับการมอบอำนาจ หากจำเป็น 5.กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นหน่วยงานหลักที่ให้ข้อมูลนิติบุคคล สนับสนุนการทำธุรกรรมของนิติบุคคลด้วย Digital ID

 

6.ประชาชน เข้าถึงบริการออนไลน์ของรัฐได้ด้วย Digital ID ที่น่าเชื่อถือ โดยไม่ต้องพิสูจน์ตัวตนซ้ำซ้อน 7.ETDA ขับเคลื่อนนโยบาย Digital ID ในภาพรวม พร้อมพัฒนามาตรฐานกลาง ที่หน่วยงานกำกับแต่ละ Sector สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับ Sector ของตนได้อย่างเหมาะสม และ 8. DGA พัฒนาระหว่างรัฐและเอกชนได้

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอีเอสยังได้เร่งสร้างมาตรฐานกับผู้ให้บริการ Digital ID หากต้องการเป็นผู้ให้บริการระบบต้องมาขอใบอนุญาตตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. ... เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัยตามมาตรฐานที่ ETDA กำหนด หากไม่มีใบอนุญาตถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย เพื่อทำให้ระบบ Digital ID มีความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศลงราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2566