posttoday

ธนาคารโลกคาด GDP ไทยปีหน้าบวก 3.6% แนะเร่งใช้นโยบายคลังให้เสมอภาคมากขึ้น

14 ธันวาคม 2565

ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัว ซึ่งปีหน้า GDP ขยายตัว 3.6% แม้ยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว พร้อมแนะเร่งใช้นโยบายการคลังให้เสมอภาคมากขึ้น ด้วยมาตรการที่เจาะจง เน้นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือจริง ไม่ใช่แบบเหมาเข่งเช่นที่ผ่านมา

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก เปิดเผยถึงทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยว่า จะมีการเติบโตของ GDP ในปี 2565 ที่ 3.4% และคาดว่าในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นที่ 3.6% แม้ว่ายังต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

 

ทั้งนี้ เกียรติพงศ์ ให้มุมมองต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 เพิ่มเติมอีกว่า จะยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกในปี 2566 หลังขาดดุลในระดับสูงตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมา รวมถึงยังมีแรงกดดันด้านราคา ซึ่งคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงก่อนจะชะลอตัวลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566

 

ขณะที่ตัวเลขหนี้สาธารณะคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงสุดที่ 60.7% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2565 อีกทั้งยังมีผลกระทบด้านลบอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น หรือทำให้พื้นที่ทางการคลังลดลง เว้นแต่จะมีการนำมาตรการช่วยเหลือทางสังคมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายมาใช้ 

 

"ปัจจัยเสี่ยงที่น่าห่วงสุดคือเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่กระจายในกว้าง ที่จะทำให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์สูงต่อเนื่อง เพราะไทยพึ่งพาการนำเข้าพลังงานน้ำมันค่อนข้างมาก"

 

อย่างไรก็ตามจากรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับเดือนธันวาคม 2565 พบว่า เศรษฐกิจไทยยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ น่าจะขยายตัวเร่งขึ้นเป็น 4.5% 

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัว การไหลเข้าของนักท่องเที่ยวจากการกลับมาเปิดประเทศในเดือนพฤษภาคม และมาตรการของภาครัฐเพื่อบรรเทาแรงกดดันด้านค่าครองชีพ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศในเดือนกันยายนกลับมาอยู่ที่ร้อยละ 45 ของระดับก่อนการระบาด แซงหน้าประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

 

"เห็นว่า Q3 ฟื้นตัวดีกว่าคาด จากการบริโภคภายในประเทศและการท่องเที่ยวดีขึ้น แต่ยังตามหลังชาติอื่นในอาเซียน เช่น เวียดนาม เพราะไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวมากสุดในภูมิภาค" ตามความเห็นของนายเกียรติพงศ์

 

นอกจากนี้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 แม้ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะสูงขึ้น แต่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 5.7% ซึ่งมีสาเหตุจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันสุทธิและดุลการค้าสินค้าที่ถดถอยตามวัฏจักรของเศรษฐกิจนั่นเอง

 

เช่นเดียวกับที่แรงกดดันด้านราคายังคงอยู่ในระดับสูงด้วยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 6% สูงเป็นอันดับสองในกลุ่มประเทศอาเซียนและส่งผลไปสู่เงินเฟ้อพื้นฐาน ขณะที่รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายการคลังเชิงรุก เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและบรรเทาแรงกดดันจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น

 

ปัจจุบัน ไทยประสบปัญหาการขยายตัวของการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัวลง ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การส่งออกสินค้าคาดว่าจะหดตัว 2.1% ในปี 2566 ลดลงอย่างมากจากที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 8.1% ในปี 2565 ด้วยการปรับลดนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ที่ลดลงจากประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน ยูโรโซน และสหรัฐฯ

 

เช่นเดียวกับมุมมองของนายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ที่ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "ขณะที่ไทยกำลังกลับเข้าสู่เส้นทางของการเป็นประเทศที่มีรายได้สูง หลังจากการระบาดของโควิด-19 เพิ่มบทบาทของการคลังให้เพียงพอสำหรับความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและเพื่อรองรับผลกระทบด้านลบอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการ"
 

ทั้งนี้จากรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย: นโยบายการคลังเพื่อสังคมที่เสมอภาคและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ที่ธนาคารโลกได้จัดทำขึ้นนั้น ยังระบุอีกว่าการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 ได้ช่วยบรรเทาผลกระทบของวิกฤติที่มีต่อสวัสดิการของครัวเรือนได้อย่างมาก

 

เพราะแม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่คาดว่าความยากจนจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.6% ในปี 2565 จาก 6.3% ในปี 2564 เนื่องจากมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 กำลังจะสิ้นสุดลงท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลกระทบด้านลบอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงราคาพลังงานที่สูงขึ้นอาจทำให้พื้นที่ทางการคลังลดลง เว้นแต่จะมีการนำมาตรการช่วยเหลือทางสังคมที่เจาะจงเฉพาะกลุ่มเป้าหมายมาใช้มากขึ้น 


ตัวแทนจากธนาคารโลกยังให้ความเห็นอีกว่า จากการที่ไทยมีมาตรการให้ความช่วยเหลือทางสังคม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด - 19 นั้น ได้ช่วยชดเชยการสูญเสียรายได้และบรรเทาปัญหาความยากจนที่เพิ่มขึ้น นั่นคือหากไม่มีมาตรการดังกล่าว ความยากจนอาจสูงถึง 8.1% ในปี 2564 ขณะที่ความเหลื่อมล้ำอาจสูงกว่าในระดับปัจจุบัน ซึ่งมากกว่า 40% แต่การใช้จ่ายด้านสังคมของประเทศไทยเอง ก็ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับการจัดเก็บรายได้ภาษี

 

"วิกฤติในปัจจุบันเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง โดยการปรับปรุงคุณภาพและการจัดสรรการใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งเพิ่มการจัดเก็บรายได้ตามโครงสร้างเศรษฐกิจ" ตามความเห็นของนายเกียรติพงศ์ 

 

ทั้งนี้เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้จ่าย ขณะที่ยังมีความจำเป็นต้องปรับปรุงผลกระทบของนโยบายการคลังในด้านการกระจายความเท่าเทียม และการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง  จึงจำเป็นที่การใช้จ่ายภาครัฐควรมีประสิทธิภาพและตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งควรมีความพยายามในการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินการให้เกิดขึ้น


ดังนั้นจึงได้มีข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายการคลังในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายด้านสังคม โดยการปรับปรุงกลุ่มเป้าหมายของการให้ความช่วยเหลือทางสังคมในรูปแบบของเงินช่วยเหลือ ให้ความสำคัญกับการเพิ่มการใช้จ่ายด้านการให้บริการสาธารณะ สำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ตลอดจนเพิ่มรายได้เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นในรูปแบบก้าวหน้า 


"โดยเฉพาะการปฏิรูป เพื่อเพิ่มรายได้ภาษี ที่ควรคำนึงถึงการลดผลกระทบทางลบที่มีต่อครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง และควรมาพร้อมกับมาตรการเฉพาะที่ช่วยปกป้องรายได้ของครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวด้วย" นายเกียรติพงศ์ให้ความเห็นเพิ่มเติม

 

ทั้งนี้นโยบายการคลังจะสมดุลอย่างยั่งยืนได้ ก็มีความจำเป็นต้องขยับฐานภาษี แม้ที่ผ่านมาพบว่าจะเป็นไปได้ยากและมักถูกต่อต้านจากหลายฝ่ายนั้น แต่นายเกียรติพงศ์มองว่าน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ต้องพิจารณาและวางแผนขยับโครงสร้างภาษีได้แล้ว เพื่อให้มีงบประมาณหรือรายได้ภาครัฐเพียงพอที่จะมาใช้พัฒนาในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้น

 

นอกจากนี้รายงานดังกล่าวยังเสนอแนะให้มีการพัฒนาอาชีพและเพิ่มโอกาสในการหารายได้สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่นเดียวกับเพิ่มพื้นที่ทางการคลังเพื่อให้มีการใช้จ่ายอย่างเพียงพอในการให้ความช่วยเหลือทางสังคมสำหรับกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มคนที่ยากจนมาก

 

รวมไปถึงการจัดหาเงินทุนสำหรับการลงทุนของรัฐที่จำเป็น ทั้งในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และทุนมนุษย์เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนามนุษย์ในระยะยาว จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายในการลดความยากจนอย่างยั่งยืน