posttoday

ผู้นำหญิงระดับโลก ร่วมเปิดม่านมองเศรษฐกิจโลก ยุคหลังโควิดยังมีความท้าทาย

23 มิถุนายน 2565

ผู้นำสตรีทั่วโลก ร่วมประชุม สุดยอดผู้นำสตรี Global Summit of Women จัดครั้งแรกในไทย รับอนาคตเศรษฐกิจขยายตัว พร้อมมองเชิงลึกเศรษฐกิจโลกจากนี้ไป หลังยุคโควิด 

นางไอรีน นาทิวิแดด ประธานการประชุมสุดยอดผู้นำสตรี Global Summit of Women เปิดเผยว่าในปีนี้มีผู้นำสตรีทั่วโลกกว่า 600 คนจาก 52 ประเทศทั่วโลกร่วมการประชุมฯ อาทิ นางวีโยซา ออสมานี ประธานาธิบดีสาธารณรัฐคอซอวอ  นางโว ทิ อันห์ รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม  รวมถึงรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่รัฐบาล ผู้นำภาคธุรกิจที่เป็นสตรีจาก 4 ทวีป  นับเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีระดับนานาชาติครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทยหลังจากมีการจัดประชุมมาแล้ว 32 ปี 

สำหรับการจัดงานฯ ดังกล่าวได้เริ่มเปิดประชุมที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. โดยมี นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานคณะกรรมการจัดงานฝ่ายไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยากมากในโลกนี้ 

นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้ ยังเป็นสัญญาณที่สื่อถึงความสำคัญของผู้หญิงที่เป็นผู้นำบริษัทในประเทศไทยซึ่งเศรษฐกิจกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และยังสอดคล้องกับการประชุมระดับโลกในประเทศไทย ที่มีผู้นำองค์กรชั้นนำมากถึง 40%  

สำหรับการประชุมดังกล่าว ได้จัดเป็นประจำต่อเนื่องมาแล้ว 32 ปี จะเน้นการสนับสนุนความก้าวหน้าของผู้หญิงทั่วโลกในด้านเศรษฐกิจ  คณะผู้จัดงานจึงเรียนเชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ  เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มาบรรยายพิเศษเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาคและโอกาสด้านการลงทุน ในหัวข้อ “การทำธุรกิจในประเทศไทย”   และยังมีการประชุม Vietnam-Thailand BtoB Forum ที่หอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนามและหอการค้าไทยร่วมกันจัดขึ้นควบคู่ไปกับการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีครั้งนี้ในช่วงเช้า 

โดยในวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2565 จะมีการเสวนาระดับรัฐมนตรี (Ministerial Roundtable) โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะเข้าร่วมการอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลและภาคเอกชนร่วมมือกันจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่สตรี

ขณะที่ ผู้ที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ เป็นผู้นำสตรีในองค์กรเอกชนจาก 4 ทวีป  และเนื่องจากจัดการประชุมในขณะที่ยังคงมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19  หัวข้อในการประชุมจะเน้นการสนับสนุนการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจของสตรีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เช่น การยกเลิกการจ้างงาน การปิดกิจการที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของ เป็นต้น  

โดยจะเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลความเห็นในประเด็นว่านโยบายภาครัฐหรือวิธีการดำเนินธุรกิจแบบใดจะประสบความสำเร็จในยุคที่เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงหลังจากเกิดโรคระบาด 

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและประธานคณะกรรมการจัดงานฝ่ายไทย  กล่าวว่า “ประเทศไทยยินดีที่ได้ต้อนรับกลุ่มผู้นำสตรีจากทั่วทุกมุมโลกที่มาร่วมการประชุมครั้งนี้  และผู้หญิงไทยพร้อมจะเดินหน้าไปกับผู้หญิงจากประเทศต่าง ๆ ในการเป็นผู้นำของโลกยุคหลังโควิด”

ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ จะมีการมอบรางวัลผู้นำหญิงยอดเยี่ยมระดับโลก (Global Women’s Leadership Awards) ในวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ให้แก่ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เจ้าของฉายา “หมอยายิปซี” ที่มีบทบาทโดดเด่นด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนและการต่อต้านเชื้อไวรัสทุกชนิด โดยเป็นผู้พัฒนายาต้านไวรัส HIV ราคาถูกที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ติดเชื้อในหลายประเทศโดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา

การประชุมดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 มิถุนายน 2565  โดยมี 2 ประเด็นสำคัญที่บรรลุผลสำเร็จเป็นครั้งแรก ณ การประชุมที่กรุงเทพฯครั้งนี้ ได้แก่ เป็นการจัดการประชุมครั้งแรกในรอบ 32 ปีที่จัดกิจกรรมที่ลดการปล่อยคาร์บอน (carbon neutral) ซึ่งเป็นผลงานของคณะเจ้าภาพการจัดงานฝ่ายไทย  และอีกประเด็นหนึ่ง คือ การกำหนดหลักการกำกับกิจการที่ดี (Corporate Governance Code) ในเรื่องความหลากหลายทางเพศในองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัทให้มีความชัดเจน 

โดยประเด็นนี้ควรเป็นปัจจัยที่จำเป็นของหลักการธรรมาภิบาลขององค์กร  โดยมีสองผู้นำสตรีเป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้น ได้แก่ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และนางไอรีน นาทิวิแดด ประธานการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรี

“การเปลี่ยนแปลงที่เอื้อประโยชน์ต่อสตรีจะเป็นจริงได้เร็วขึ้นเมื่อเราได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นและกลยุทธ์ซึ่งกันและกันโดยไม่มีขอบเขตพรมแดนประเทศมากั้น  และการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีในครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำคัญทีจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว” นางไอรีนกล่าว