posttoday

ดัชนีทุเรียน เฝ้าระวัง 5 ปียังเสี่ยงสูง แม้ส่งออกพุ่ง 90%

07 มิถุนายน 2565

ม.หอการค้าชี้ ดัชนีทุเรียน 5 ปีข้างหน้า เสี่ยงสูงขึ้นหลังพื้นที่ปลูกพุ่ง 6 เท่า มุ่งคุมคุณภาพ คาดปีนี้เงินสะพัด 7 แสนล้าน

ร.ศ.ดร. อัทธ์ พิศาลวานิช  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง การจัดทำบทวิเคราะห์ ดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทยและทุเรียนไทย "ปังหรือพัง" ใน 5 ปีข้างหน้า ว่า ดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย (Durian Risk Index: DURI)ปี 2562-2569 มีค่าเท่ากับ 46, 47, 52, 51, 54, 57, 55 และ 60 ตามลำดับ แสดงว่า สถานการณ์ทุเรียนปี 2562-2563 มีความเสี่ยงน้อยแต่อีก 5 ปี ข้างหน้า ยังมีโอกาสความเสี่ยงสูง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น 6 เท่า ขณะที่ประเทศในอาเซียนได้เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเช่นกันมีโอกาสเข้ามาแข่งขันจึงจำเป็นต้องควบคุมมาตรฐานและคุณภาพ ไม่ให้เกิดการส่งออกทุเรียนอ่อน

ทั้งนี้ประเมินว่าทุเรียนปี 2565 จะทำให้เกิดเงินสะพัด 7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% จากปี 2564 โดยภาคตะวันออกมีเงินสะพัดมากที่สุด รองลงมาคือภาคใต้ และภาคเหนือ ตามลำดับ

สำหรับในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา(2554-2564) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเนื้อที่เพาะปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกภาคในประเทศไทย โดยในปี 2564 เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น 6 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2554 เนื่องจากปลูกทุเรียนแทนพืชอื่น เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ขณะที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 70,703 ตันต่อปี ส่วนปี 2565-2569 ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 337,648 ตันต่อปี เพิ่มขึ้น 5 เท่าจากช่วงปี 2554-2564

ส่วนราคาทุเรียนหมอนทองที่เกษตรกรขายได้ที่สวน (เฉลี่ยทั้งประเทศ) ปี 2554-2556 ราคาเพิ่มเฉลี่ย 5.5 บาท/กก.ปี 2557 ราคาลดลงจากผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่เพาะปลูก และช่วงปี 2558-2564 ราคาเพิ่มเฉลี่ย 11.4 บาท/กก.โดยราคาทุเรียน 5 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569)เฉลี่ยอยู่ที่ 136 บาท/กก.

ดัชนีทุเรียน เฝ้าระวัง 5 ปียังเสี่ยงสูง แม้ส่งออกพุ่ง 90%

ด้านราคาขายส่งทุเรียนหมอนทองไทย ณ ตลาดเจียงหนาน ปี 2569 ประมาณ 238 บาท/กก. เฉลี่ยราคาในปี 2565-2569 ประมาณ 212 บาท/กก.แต่หากจีนนำเข้าทุเรียนไทยเพิ่มมากกว่า 15% ราคาขายส่ง ปี 2569 จะอยู่ที่ 417 บาท/กก.

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ทุเรียนโลกช่วง 10 ปี (ปี 2554-2564) มีผลผลิตเพิ่มเฉลี่ย 131,303 ตันต่อปี การส่งออกเพิ่มเฉลี่ย 61,576 ตันต่อปี ขณะที่ช่วง 5 ปี ข้างหน้า (ปี 2565-2569) ผลผลิตทุเรียนโลก เพิ่ม 1.8 เท่า  ส่งออกทุเรียนโลกเพิ่ม 2.2 เท่า บริโภคในประเทศเพิ่ม 1.7 เท่า (เทียบปี 2564) โดยผลผลิตเพิ่มเฉลี่ย 612,276 ตันต่อปี การส่งออกเพิ่มเฉลี่ย  273,937 ตันต่อปี

ขณะที่ปี 2569 ไทยยังคงเป็นผู้ส่งออกหลัก โดยส่งออกทุเรียนเพิ่มขึ้น 90.43% จากปี 2565  แต่ทางเวียดนามมีการส่งออกเพิ่มขึ้น 156.06% ตามผลผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 7 แสนตันในปี 2569เช่นกัน

ทั้งนี้เมื่อพิจารณารูปแบบการค้าทุเรียนไทย มี 5 รูปแบบ ได้แก่ เกษตรกรขายให้พ่อค้าคนกลาง (ในประเทศไทย) (15%) เกษตรกรขายให้ล้งเพื่อส่งออกไปตลาดค้าส่งในประเทศจีน (50%) เกษตรกรขายปลีกเองที่สวน ขายออนไลน์ และเปิดสวนท่องเที่ยวเชิงเกษตร (ขายในประเทศ) (5%) เกษตรกรขายให้ล้งเพื่อส่งออกไปร้านค้าปลีกผลไม้พรีเมียมในจีน (10%) และเกษตรกรเป็นผู้ส่งค้าและเป็นผู้ส่งออกเอง (ไปจีน) (20%)

การส่งออกก่อนเกิดโควิด เป็นการขนส่งทางบก 50% ทางเรือ 49% และทางอากาศ 1% แต่ปัจจุบันนิยมขนส่งทางเรือ 70% ทางบก 25% และทางอากาศ 5%   ซึ่งการขนส่งทางบกก่อนโควิดต้นทุน 2.5 แสนบาท/ตู้ (เส้นทางที่นิยมคือ R12 เนื่องจากระยะทางสั้น ประหยัดค่าขนส่ง) แต่ปัจจุบันต้นทุน 8 แสนบาท/ตู้ (เปลี่ยนมาใช้เส้นทาง R3A เนื่องจากหลีกเลี่ยงมาตรการตรวจเข้มของจีน) การขนส่งทางเรือก่อนโควิดต้นทุนค่าระวาง 35,000 บาท/ตู้ แต่ปัจจุบันต้นทุนค่าระวาง 60,000 บาท/ตู้ การขนส่งทางอากาศก่อนโควิดต้นทุน 1 ล้านบาท/ตู้ แต่ปัจจุบันต้นทุน 1.8 ล้านบาท/ตู้