posttoday

GPSC เล็งลงทุนเพิ่ม 3 หมื่นลบ. ตั้งเป้าผลิตแบตเตอร์รี่ SemiSolid 10 กิ๊กกะวัตต์ ใน 10 ปี

19 กรกฎาคม 2564

GPSC เดินเครื่องโรงงานแบตเตอร์รี่ SemiSol id เจ้าแรกในอาเซียน ป้อนโรงไฟฟ้า - รง.ขนาดใหญ่ - ยานยนต์ไฟฟ้า วางแผนลงทุนต่อยอดอีก 3 หมื่นล้านบาท ใน 10 ปีข้างหน้า

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยในระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานต้นแบบแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSCว่า ถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย รักษาจุดยืนความเป็นผู้นำฐานการผลิตยานยนต์ในภูมิภาค และต่อยอดเปลี่ยนผ่านตัวเองเข้าสู่เทคโนโลยีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ได้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของอาเซียน 

ทั้งนี้รัฐบาลทำงานในวันนี้ เพื่อปัจจุบันและอนาคต และจะทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง แม้จะเจอสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยต้องต้องเดินหน้าไปสู่รายได้ที่เพียงพอ มีรายได้สูงด้วยนวัตกรรม มั่นใจว่า ประเทศไทยจะมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งต้องขอให้ทุกคนช่วยกันคิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและคนไทยในวันนี้และอนาคตด้วย  

นายวรวัฒน์   พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวว่า โรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell ใช้เทคโนโลยี SemiSolid แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง  และมีแผนขยายกำลังการผลิตในระยะ 10 ปีข้างหน้า เป็น 10 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ด้วยลงทุน 3 หมื่นกว่าล้านบาท

สำหรับนวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่ SemiSolid ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตของบริษัท 24M Technologies Incorporation หรือ 24M จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับสิทธิ License ในการดำเนินการผลิตและจัดจำหน่าย โดยเริ่มต้นจากการผลิต G-Cell แบบ LFP (Lithium Iron Phosphate) หรือ ลิเธียมไอรอนฟอสเฟต ด้วยกำลังการผลิต 30 MWh ต่อปี และมีแผนขยายกำลังการผลิตของโรงงานนี้เพิ่มเป็น 100 MWh ต่อปี และก้าวสู่โรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ขนาดเริ่มต้น 1 GWh ต่อปี จนถึง 5 GWh  ภายใน 5 ปี และ 10 GWh ภายใน10 ปีข้างหน้า

“บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาแผนการลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาด Giga-scale ซึ่งจะต่อยอดให้ GPSC เป็นผู้นำทางด้านการให้บริการด้านแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน มุ่งสู่การเป็นผู้พัฒนาโซลูชั่นเพื่อบริหารจัดการพลังงานชั้นนำ (Energy Management Solution Provider) ของประเทศ” นายวรวัฒน์ กล่าว 

GPSC เล็งลงทุนเพิ่ม 3 หมื่นลบ. ตั้งเป้าผลิตแบตเตอร์รี่ SemiSolid 10 กิ๊กกะวัตต์ ใน 10 ปี

อย่างไรก็ตามโรงงานแห่งนี้ มีขีดความสามารถผลิตแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงานได้ใน 3 ระดับ คือ 1. G-Cell ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นพื้นฐานในรูปแบบ Battery Pouch Cell 2. ผลิตภัณฑ์ G-Pack ที่มีการนำ Battery Pouch Cell มาเชื่อมต่อกันในรูปแบบ Battery Module และ Pack พร้อมทั้งติดตั้งระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ หรือ Battery Management System (BMS) ร่วมด้วย สำหรับการใช้งานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่  อาทิเช่น รถบัสไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถตุ๊กต๊กไฟฟ้า รถไฟฟ้าสี่ล้อขนาดเล็ก รถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า  (Stationary Application)

3. กลุ่ม G-Box ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้งาน สำหรับระบบสำรองไฟฟ้า   และระบบกักเก็บพลังงาน  ที่มีขนาดตั้งแต่ 10-1,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขึ้นไป ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยี  IoT (Internet of Things) AI (ระบบปัญญาประดิษฐ์) และ  Block-chain เข้ามาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มการให้บริการกับกลุ่มลูกค้า ตามขนาดของความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

นายวรวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับแผนการตลาด ในเบื้องต้นจะเจาะกลุ่มลูกค้าจะเน้นทั้งในกลุ่มปตท. กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และกลุ่มเอสเอ็มอี  รวมไปถึงผู้ประกอบการที่ต้องใช้แบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบของสินค้า โดยในระยะแรกจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ผลิตและใช้งานระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) และยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ด้วยลักษณะการใช้งานที่เหมาะสมกับจุดแข็งของ G-Cell แบบ LFP (ลิเธียมไอรอน ฟอสเฟต)

GPSC เล็งลงทุนเพิ่ม 3 หมื่นลบ. ตั้งเป้าผลิตแบตเตอร์รี่ SemiSolid 10 กิ๊กกะวัตต์ ใน 10 ปี

ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่ม Passenger EV ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ประเทศไทยให้การส่งเสริมและมีเป้าหมายการผลิตให้ได้ 30% ของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศในปี 2573 ซึ่งมักจะนิยมใช้แบตเตอรี่แบบ NMC (Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide) นั้น ในเบื้องต้นบริษัทฯ สามารถนำเข้าแบตเตอรี่แบบ NMC ที่ผลิตจากเทคโนโลยีเดียวกัน โดยบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. (AXXIVA) ประเทศจีน ที่บริษัทฯ ได้เข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้ ป้อนให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการได้เช่นกัน