posttoday

รัฐบาลผ่านร่างงบประมาณ65 กู้ขาดดุล7แสนล้านบาท

21 เมษายน 2564

รัฐบาลผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท กู้ขายดุลอีก 7 แสนล้านบาท

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 20 เม.ย. ที่พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ หลังจากผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น ตามมาตรา 77 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 24 มี.ค.-7 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา และได้ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว

ขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักงบประมาณจำได้จัดพิมพ์ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 และเอกสารประกอบงบประมาณ เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบอีกครั้งในวันที่ 11 พ.ค. 2564 และเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ตามปฏิทินงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร์จะพิจาจารณาร่าง ในวาระที่ 1 ในวันที่ 26-27 พ.ค. 2564 วาระที่ 2-3 ในวันที่ 11-13 ส.ค. 2564 และเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในวันที่ 23-24 ส.ค. 2564 จากนั้นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะนำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันที่ 7 ก.ย. 2564 ต่อไป

สำหรับวงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีวงเงินจำนวน 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2564 ที่ 1.85 แสนล้านบาท หรือลดลง 5.66% โดยเป็นงบประมาณแบบขาดดุล ต้องกู้ชดเชยเพื่อการขาดดุล 7 แสนล้านบาท

โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประกอบด้วย รายจ่ายประจำ 2.36 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 76.15% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน 6.24 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20.14% รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 1 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.22% รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย 2.49 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.81% และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 596.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.02%

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องชี้แจงสภา กรณีการทำงบประมาณปี 2565 ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังภาครัฐ ที่กำหนดว่า การตั้งงบรายจ่ายลงทุนต้องไม่น้อยกว่า 20% ของงบรายจ่าย และต้องไม่น้อยกว่ากู้เพื่อชดเชยการขาดดุล ซึ่งงบลงทุนปี 65 ต่ำกว่ากู้เพื่อการขาดดุล ซึ่งรัฐบาลต้องชี้แจงเหตุผลและแนวทางการแก้ไข