posttoday

บี.กริม เพาเวอร์ ปรับทัพ ตั้ง “ฮาราลด์ ลิงค์” นั่งซีอีโอ

16 ธันวาคม 2563

บอร์ดบี.กริม.เพาเวอร์ ปรับโครงสร้างการบริหารรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ตั้ง ‘ฮาราลด์ ลิงค์’ นั่งซีอีโอ คนใหม่ พร้อมตั้งบอร์ดบริหารรองรับการขยายธุรกิจ

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (“บี.กริม เพาเวอร์”) แจ้งว่าที่ประชุมได้พิจารณาปรับโครงสร้างการบริหาร และอนุมัติการจัดตั้งคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee) เพื่อส่งเสริมและรองรับการขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคง

ทั้งนี้ได้อนุมัติการแต่งตั้งคุณปรียนาถ สุนทรวาทะ ให้ดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการ และปรับเปลี่ยนบทบาทจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มาเป็นกรรมการบริหาร บี.กริม เพาเวอร์ โดยมีหน้าที่บริหารจัดการธุรกิจต่างประเทศและมุ่งเน้นการขยายกิจการซึ่งมีเป้าหมายลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในต่างประเทศอีกกว่า 3,000 เมกะวัตต์ในปีหน้า และพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและลำเลียงก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ให้ประสบความสำเร็จต่อไป

อย่างไรก็ตามที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทจึงได้อนุมัติแต่งตั้ง ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แทนตำแหน่งที่ว่างลงนี้  

สำหรับดร.ฮาราลด์ ลิงค์ เป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ และมีประสบการณ์ทำงานในธุรกิจต่างๆ รวมถึงธุรกิจพลังงานมายาวนานกว่า 40 ปี โดยเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้บริหารระดับสูงสุดของ บี.กริม เพาเวอร์มาตั้งแต่เริ่มต้น

ปัจจุบันคณะกรรมการบริษัทบี.กริม เพาเวอร์มีสัดส่วนกรรมการอิสระถึงร้อยละ 66.6 และนอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทจึงได้อนุมัติแต่งตั้ง คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ ให้ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการอิสระ (Lead Independent Director) เพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจตามหลักกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เป็นไปตามหลักสากล

เป้าหมายการขยายกำลังการผลิตไปสู่ 7,200 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตจากโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างพัฒนา 3,682 เมกะวัตต์ บี.กริม เพาเวอร์ ได้ขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ เวียดนาม สปป.ลาว โอมาน ฟิลิปปินส์

ล่าสุดโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กำลังผลิตติดตั้ง 39 เมกะวัตต์ภายใต้บริษัท Ray Power ในกัมพูชาได้ผ่านการทดสอบความสมบูรณ์ของการเชื่อมต่อระบบเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าเรียบร้อยแล้วเตรียมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนนี้ตามแผนแม้ว่าจะมีเหตุการณ์โควิด 19 และอุทกภัยก็ตาม ซึ่งจะถือเป็นการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งเดียวของกัมพูชาในปีนี้